แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 วรรคท้าย ผู้ที่เสียเงินอากรไว้เกินจำนวนที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอเงินอากรที่เสียไว้เกินไว้ภายใน 2 ปี แต่คดีนี้โจทก์ขอคืนค่าอากรที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเพิ่มตามมาตรา 112, 112 ทวิ โดยอ้างว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมิน ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
แม้โจทก์จะนำใบขนสินค้าทั้ง 12 เที่ยว จำนวน 12 ใบขน ซึ่งมีจำนวนเงินแต่ละใบขนแตกต่างกันมาพ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ก็ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละใบขนสินค้าหรือแต่ละเที่ยวเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องด้วยพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตามใบขนสินค้าแต่ละเที่ยวที่โจทก์นำเข้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรและเงินเพิ่มเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง ให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑,๑๕๐,๐๓๓.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๙๑๖,๖๑๖.๑๙ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ราคาสินค้าที่โจทก์สำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าตามฟ้องไม่ใช่ราคาสินค้าอันแท้จริงในท้องตลาด เป็นราคาซื้อขายที่โจทก์กับผู้ขายในต่างประเทศตกลงทำกันขึ้นเพื่อสำแดงต่อจำเลยสำหรับการเสียภาษีอากร ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายอันแท้จริงในท้องตลาดจำเลยจึงมีอำนาจประเมินราคาสินค้าใหม่ให้ถูกต้องตามราคาอันแท้จริงในท้องตลาด เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยประเมินโดยเทียบเคียงกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นรวมทั้งของโจทก์ ซึ่งเคยนำเข้าในระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ประกอบกับราคาประกาศสินค้ากองวิเคราะห์ราคา กรมศุลกากรเป็นเกณฑ์ประเมิน นอกจากนี้ยังต้องนำปริมาณของสินค้าซึ่งคำนวณตรวจชั่งตวงวัดในขณะที่มีการตรวจปล่อยสินค้ามาคำนวณเป็นราคาสินค้าที่ใช้ประเมินเรียกเก็บภาษีอากรจากโจทก์ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยชอบด้วยเหตุผลถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องขอคืนเงินอากรเกินกว่ากำหนด ๒ ปี นับแต่วันนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ โจทก์มิได้โต้แย้งสงวนสิทธิในการขอคืนเงินอากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีอากรและเงินเพิ่มเกี่ยวกับการประเมินราคาสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามฟ้อง และให้จำเลยคืนเงินจำนวน ๑,๑๕๐,๐๓๓.๒๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี จากต้นเงินจำนวน ๙๑๖,๖๑๖.๑๙ บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์ฟ้องขอคืนภาษีอากรคดีนี้เกิน ๒ ปี จึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ. ศ . ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ วรรคท้าย เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ. ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๑๐ วรรคท้าย บัญญัติว่า “สิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรเพราะเหตุที่ได้เสียไว้เกินจำนวนที่พึงต้องเสียจริง เป็นอันสิ้นไปเมื่อครบกำหนดสองปีนับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออกแล้วแต่กรณี
” หมายถึงผู้ที่เสียเงินอากรไว้เกินจำนวน ที่ต้องเสีย ต้องยื่นคำร้องขอเงินอากรที่เสียไว้เกินภายใน ๒ ปี แต่คดีนี้โจทก์ขอคืนค่าอากรที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่ เรียกเก็บเพิ่มตามมาตรา ๑๑๒, ๑๑๒ ทวิ โดยโจทก์อ้างว่าโจทก์ไม่ต้องเสียอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมิน ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ โจทก์ได้ชำระค่าอากรและเงินเพิ่มตามที่ได้แจ้งการประเมินไปในระหว่างวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ถึงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ยังไม่พ้น ๑๐ ปี ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสองว่า ราคาสินค้าตามใบขนส่งสินค้าจำนวน ๑๒ เที่ยว ตามฟ้องโจทก์เป็นราคาแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะนำใบขนสินค้าทั้ง ๑๒ เที่ยว จำนวน ๑๒ ใบขน ซึ่งมีจำนวนเงินแต่ละใบขนแตกต่างกันมาฟ้องรวมเป็นคดีเดียวกัน แต่ก็ต้องถือว่าการฟ้องแต่ละใบขนสินค้าหรือ แต่ละเที่ยวเป็นข้อหาแยกต่างหากจากกัน สิทธิในการอุทธรณ์จึงต้องพิจารณาตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทตาม ใบขนสินค้าแต่ละเที่ยวที่โจทก์นำเข้า ซึ่งทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละใบขนจะต้องมีทุนทรัพย์เกินกว่า ๕๐,๐๐๐ บาท จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ. ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๕
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท