คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5591/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญามีข้อความระบุว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไข โดยตกลงในข้อ 1 ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 1,235,680 บาท ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้จะขายแล้ว 70,000 บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก 1,165,680 บาทผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ48,570 บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 24 เดือนและข้อ 5 ระบุว่าสัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้เมื่อผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม เห็นว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข ไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ส่วนสัญญาข้อ 9 ที่ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใด ฯลฯ ผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็นเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาเท่านั้น หาทำให้สัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลายเป็นสัญญาเช่าซื้อไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ทำสัญญาขายมีเงื่อนไขกับโจทก์โดยตกลงจะซื้อรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน หมายเลขทะเบียน 81-9844 นครราชสีมา ไปจากโจทก์ในราคา 1,235,680บาท ชำระราคาวันทำสัญญา 70,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 1,165,680บาท แบ่งชำระ 24 งวด งวดละ 48,570 บาท ทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดแรกวันที่ 5 สิงหาคม 2533 เป็นต้นไป จนกว่าชำระเสร็จ มีจำเลยที่ 3ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2ผิดนัดไม่ชำระราคารถยนต์ตั้งแต่งวดวันที่ 5 เมษายน 2535 เป็นต้นมา สัญญาจึงเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันส่งมอบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 81-9844 นครราชสีมา แก่โจทก์ หากไม่สามารถส่งมอบได้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงินจำนวน 218,565 บาท และค่าเสียหายเดือนละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะส่งมอบรถยนต์หรือใช้เงินแก่โจทก์เสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่าข้อความในหนังสือสัญญาตามฟ้องโจทก์ทำขึ้นเองหลังจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ลงชื่อโดยเข้าใจว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่อาจฟ้องเรียกค่าขาดประโยชน์จากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลล่างทั้งสองได้วินิจฉัยมาแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2533 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญากับโจทก์และรับรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์ในราคา 1,235,680 บาท ชำระราคาในวันทำสัญญา 70,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงให้ผ่อนชำระ 24 งวด ทุกวันที่ 5 ของเดือน งวดแรกชำระในวันที่ 5สิงหาคม 2533 โดยมีข้อตกลงกันว่ากรรมสิทธิ์จะตกเป็นของจำเลยที่ 1ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมด หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระราคางวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าสัญญาเลิกกันทันที และโจทก์มีสิทธิริบเงินที่จำเลยที่ 1 ได้ชำระไปแล้วทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7 โจทก์ได้มอบหนังสือแสดงการจดทะเบียนรถเอกสารหมาย จ.8 ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ จำเลยที่ 1และที่ 2 ชำระเงินค่างวดไม่ตรงตามสัญญาที่กำหนดไว้ในแต่ละงวด แต่โจทก์ก็รับไว้รวม 21 งวด ตามบันทึกการชำระเงินค่างวดเอกสารหมาย จ.9และหนังสือแจ้งยอดเงินค้างชำระเอกสารหมาย จ.10 และใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 โดยชำระงวดสุดท้ายในวันที่ 1 ตุลาคม 2537 ต่อมาวันที่ 21ธันวาคม 2537 โจทก์ได้ติดตามยึดรถยนต์คันดังกล่าวคืนโดยมิได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 จึงแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้เป็นของกลางในคดีอาญาฐานลักทรัพย์ แต่ต่อมาพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าสัญญาตามเอกสารหมายจ.6 เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขหรือสัญญาเช่าซื้อพิเคราะห์แล้ว ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 ก็มีข้อความระบุไว้แล้วว่าหนังสือสัญญาขายมีเงื่อนไขโดยตกลงกันไว้ในข้อ 1 ว่า ผู้จะขายตกลงจะขายและผู้จะซื้อตกลงจะซื้อรถยนต์พิพาทในราคา 1,235,680 บาท ในวันทำสัญญานี้ผู้จะซื้อได้ชำระเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้จะขายแล้วเป็นเงิน 70,000 บาท ส่วนที่ยังค้างอยู่อีก1,165,680 บาทนั้น ผู้จะซื้อสัญญาว่าจะชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นงวดทุก ๆ เดือน งวดละ 48,570 บาท ณ สำนักงานของผู้จะขายให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 24 เดือนและในข้อ 5 ระบุไว้ว่าสัญญาซื้อขายนี้ตามข้อความแห่งสัญญาจะมีผลสมบูรณ์ให้กรรมสิทธิ์ตกเป็นของผู้จะซื้อต่อเมื่อผู้จะซื้อได้ปฏิบัติตามข้อความในสัญญานี้ทั้งหมดแล้ว และผู้จะขายมีสิทธิจะบอกเลิกสัญญาและเรียกทรัพย์สินได้ เมื่อผู้จะซื้อไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดก็ตาม จากข้อตกลงตามข้อสัญญาดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ตกลงซื้อขายกันยังเป็นของผู้ขายโดยไม่โอนไปยังผู้ซื้อจนกว่าผู้ขายจะได้รับชำระราคาครบถ้วนตามสัญญาแล้ว ดังนี้ เห็นว่า สัญญาดังกล่าวตามเอกสารหมายจ.6 เป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินยังไม่โอนไปจนกว่าจะได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขคือได้ชำระราคาแก่ผู้ขายครบถ้วนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 สัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าเป็นสัญญาเช่าซื้อที่เจ้าของทรัพย์เอาทรัพย์สินออกให้เช่าและให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้นหรือจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่าโดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 อันว่าด้วยลักษณะเช่าซื้อแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาเช่าซื้อ ส่วนที่สัญญาข้อ 9 ระบุว่าหากผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระราคาสินค้าตามงวดหนึ่งงวดใด ฯลฯผู้จะซื้อยอมให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันเลิกกันทันทีตั้งแต่วาระนั้นโดยไม่จำต้องบอกกล่าวและมีสิทธิเอารถยนต์ที่จะซื้อคืนโดยไม่ต้องคืนเงินที่ผู้จะซื้อชำระแล้วนั้น เป็นข้อตกลงโดยความสมัครใจของคู่สัญญาและข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ขายมิให้เสียหายเกินกว่าความจำเป็นเมื่อผู้ซื้อผิดสัญญาข้อตกลงยินยอมกันดังกล่าวไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และหาทำให้อิสระในการแสดงเจตนาทำสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขกลับกลายแปรเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่าซื้อดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า สัญญาตามเอกสารหมาย จ.6เป็นสัญญาเช่าซื้อและพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น

มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ที่โจทก์ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ค่าเสียหายมีเพียงใด จากพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบมา ศาลฎีกาเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบรถยนต์คันพิพาทแก่โจทก์ หากไม่ส่งคืนให้ชำระราคาที่ค้างชำระเป็นเงิน145,710 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดงวดที่ 22 คือวันที่ 5 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ.7 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันนั้นด้วย ส่วนค่าเสียหายอย่างอื่นนั้นพิเคราะห์ทางได้ทางเสียของคู่กรณีตามสัญญาเอกสารหมาย จ.6 แล้ว เห็นว่า เจตนารมณ์ของคู่สัญญาก็มุ่งที่จะซื้อขายรถยนต์คันพิพาทต่อกันโดยมีข้อตกลงป้องกันการผิดสัญญากันไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดผิดสัญญากันขึ้นก็ต้องบังคับไปตามกฎหมายและข้อสัญญาที่ตกลงกันไว้นั้น ที่โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอีกเดือนละ 30,000 บาทแต่ไม่นำสืบแสดงให้ศาลเห็นได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวหรือไม่จึงเห็นว่าโจทก์คิดค่าเสียหายจากหนี้เงินที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีเป็นจำนวนเพียงพอแก่ค่าเสียหายตามพฤติการณ์แห่งคดีนี้แล้ว จึงให้ยกคำขอรายเดือนส่วนนี้เสีย”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน81-9844 นครราชสีมา แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับเงินค่างวดที่ค้างชำระอยู่เป็นเงิน 145,710 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์

Share