แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ว่าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 171 การค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่างๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญานั้น ไม่อาจถือตามชื่อสัญญาได้เพราะข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญาอาจไม่เป็นไปตามชื่อสัญญานั้นก็เป็นได้ สำหรับสัญญาระหว่าง ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของ พ. ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ แม้ข้อความในสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 จะระบุว่า ฉ. ผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของ พ.ให้แก่โจทก์เพื่อทำแผ่นเสียง-เทปและประโยชน์อื่นๆ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 200,000 บาท ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ว่า ฉ. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ในคำร้องและหรือทำนองเพลงทั้งหมดจากบทประพันธ์ของ พ. ให้แก่บริษัท ม. ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ โดย ฉ. ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300,000 บาท จากบริษัทดังกล่าวอีก ดังนี้ หากสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 เป็นสัญญาที่ ฉ. โอนลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่โจทก์ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ม. จะต้องทำสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 ซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งจาก ฉ. โดยจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท ให้แก่ ฉ. อีก เพราะลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 แล้ว แสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวมิได้ตกเป็นของโจทก์แต่ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของ ฉ. ทายาท พ. แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ เจตนาในการทำสัญญาระหว่าง ฉ. กับโจทก์จึงเป็นเพียงเจตนาที่ ฉ. อนุญาตให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ไม่ได้เจตนาโอนลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ม. เข้าทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 จาก ฉ. แสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 ว่าโจทก์เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น ส่วนสัญญาที่ ฉ. ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 นั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 ฉ. ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจำนวน 12 เพลง และจำนวน 6 เพลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการอีก ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์เพลงของ พ. ทั้งหมดมาแล้วตามสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า ฉ. ผู้ขายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกของ พ. แต่เพียงผู้เดียวตกลงโอนขายสิทธิเพลงทั้งหมดของ พ. ตลอดอายุลิขสิทธิ์จริง จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ก็หาจำต้องซื้อลิขสิทธิ์เพลงของ พ. จาก ฉ. อีก จำเลยที่ 1 สามารถอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ผ. ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าในขณะทำสัญญาลงวันที่ 17 เมษายน 2518 ทั้ง ฉ. และจำเลยที่ 1 มีเจตนาตรงกัน กล่าวคือจำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งจาก ฉ. ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวในฐานะทายาทของ พ. เท่านั้น มิได้มีเจตนาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจาก ฉ. แต่อย่างใด ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่ พ. แต่งในขณะทำสัญญาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2518 และวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 จึงยังคงเป็นของ ฉ. ดังนี้ สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 จึงเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงชื่อ แต่ที่แท้จริงสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่ พ. แต่งเท่านั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงที่ พ. แต่งทั้งหมดยังคงเป็นของ ฉ. ในขณะทำสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และสัญญาขายลิขสิทธิ์เพลงลงวันที่ 17 เมษายน 2518 เป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดดังกล่าวมาตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมที่ พ. แต่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองยุติการบันทึกเสียง จำหน่ายและเผยแพร่ซึ่งบทประพันธ์เพลงของนายไพบูลย์ตามคำฟ้องกับส่งมอบสินค้าอันละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์คืนให้แก่โจทก์ทั้งหมด ให้จำเลยทั้งสองมีหนังสือแจ้งเวียนไปยังลูกค้า ผู้ประกอบการร้านค้า และผู้เกี่ยวข้องในงานเพลงของนายไพบูลย์ซึ่งได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ทราบถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 700,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยทั้งสองว่าสัญญาที่นายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไพบูลย์และผู้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียวของนายไพบูลย์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์เป็นผู้แต่งทำนองและคำร้องให้แก่โจทก์ ลงวันที่ 5 มกราคม 2516 และสัญญาที่นายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไพบูลย์และผู้รับมรดกแต่เพียงผู้เดียวของนายไพบูลย์ขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์เป็นผู้แต่งทำนองและคำร้องให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 เป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์อันเป็นผลทำให้โจทก์ไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์เป็นผู้แต่งทำนองและคำร้องโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ในการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาระหว่างนายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของนายไพบูลย์ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ และการตีความการแสดงเจตนาในการทำสัญญาระหว่างนายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของนายไพบูลย์ดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 ว่าเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรที่ปรากฏในสัญญาดังกล่าว ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 การค้นหาเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญานั้น ไม่อาจถือตามชื่อสัญญาได้เพราะข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่สัญญาปฏิบัติต่อกันภายหลังจากทำสัญญาอาจไม่เป็นไปตามชื่อสัญญานั้นก็เป็นได้ สำหรับสัญญาระหว่างนายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับมรดกของนายไพบูลย์ผู้แต่งทำนองและคำร้องเพลงซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์กับโจทก์ แม้ข้อความในสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 จะระบุว่านายฉกาจผู้จัดการมรดกของนายไพบูลย์ได้ขายลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดของนายไพบูลย์ให้แก่โจทก์เพื่อทำแผ่นเสียง – เทปและประโยชน์อื่น ๆ โดยนายฉกาจได้รับค่าตอบแทนไปแล้วจำนวน 200,000 บาท ก็ตาม แต่ปรากฏต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ว่า นายฉกาจในฐานะผู้จัดการมรดกของนายไพบูลย์ได้ทำสัญญา โอนลิขสิทธิ์ในคำร้องและหรือทำนองเพลงทั้งหมดจากบทประพันธ์ของนายไพบูลย์ให้แก่บริษัทโมโทรแผ่นเสียง – เทป(1981) จำกัด ซึ่งโจทก์เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจ โดยนายฉกาจได้รับค่าตอบแทนจำนวน 300,000 บาท จากบริษัทดังกล่าวอีก ดังนี้ หากสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 เป็นสัญญาที่นายฉกาจโอนลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์แต่งให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์อ้างในคำฟ้องก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป (1981) จำกัด จะต้องทำสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538ซื้อลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์แต่งจากนายฉกาจโดยจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์จำนวน 300,000 บาท ให้แก่นายฉกาจอีก เพราะลิขสิทธิ์ในเพลงที่นายไพบูลย์แต่งทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 แล้วแสดงให้เห็นว่าลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวมิได้ตกเป็นของโจทก์แต่ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของนายฉกาจทายาทนายไพบูลย์แต่เพียงผู้เดียว ดังนี้ เจตนาในการทำสัญญา ระหว่างนายฉกาจกับโจทก์จึงเป็นเพียงเจตนาที่นายฉกาจอนุญาตให้โจทก์ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่นายไพบูลย์แต่งเท่านั้น ไม่ได้เจตนาโอนลิขสิทธิ์ในเพลงดังกล่าวให้แก่โจทก์แต่อย่างใด การที่โจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป (1981) จำกัด เข้าทำสัญญารับโอนลิขสิทธิ์เพลงที่นายไพบูลย์แต่งตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 จากนายฉกาจแสดงให้เห็นว่าโจทก์ทราบดีในขณะทำสัญญา ว่า โจทก์เป็นเพียงผู้รับอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงที่นายไพบูลย์แต่งเท่านั้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเหตุที่โจทก์ขอให้นายฉกาจทำสัญญาโอนลิขสิทธิ์ให้แก่บริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป (1981) จำกัด ตามสัญญาลงวันที่ 24 เมษายน 2538 นั้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เนื่องจากมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ออกมาใหม่ทำให้โจทก์ทำงานไม่คล่องตัวและมีเหตุผลด้านภาษีหากถือตามสัญญา โจทก์จะต้องทำสัญญาอนุญาตเป็นส่วนตัวซึ่งยุ่งยาก โจทก์จ่ายค่าตอบแทนตามสัญญา ให้นายฉกาจจำนวน 100,000 บาท เนื่องจากถือได้ว่าโจทก์ได้จ่ายค่าตอบแทนจำนวน 200,000 บาท ตามสัญญาให้นายฉกาจแล้วนั้น เห็นว่า ข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ที่ว่าโจทก์จะต้องทำสัญญาอนุญาตเป็นส่วนตัวซึ่งยุ่งยาก พระราชบัญญัติ ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ทำให้โจทก์ทำงานไม่คล่องตัวและมีเหตุผลด้านภาษีหากถือตามสัญญานั้น ไม่ปรากฏว่าการทำสัญญาอนุญาตให้บริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป(1981) จำกัด ใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ที่ได้มาตามสัญญานั้น ยุ่งยากอย่างไรทำให้โจทก์ทำงานไม่คล่องตัวและมีเหตุผลด้านภาษีอย่างไร เพราะสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ก็มิได้กำหนดให้สัญญานั้นต้องทำตามแบบ โจทก์ในฐานะกรรมการบริษัทเมโทรแผ่นเสียง – เทป (1981) จำกัด สามารถอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวใช้ลิขสิทธิ์เพลงของโจทก์ด้วยวาจาได้อยู่แล้วมิได้มีข้อยุ่งยากแต่อย่างใด และหากสัญญาเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์ดังที่โจทก์อ้าง โจทก์ก็หาจำต้องจ่ายค่าแห่งลิขสิทธิ์เพิ่มให้แก่นายฉกาจอีกจำนวน 100,000 บาท ไม่ ข้ออุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักและเหตุผลพอให้รับฟังได้ ส่วนสัญญาที่นายฉกาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์แต่งให้แก่จำเลยที่ 1 ลงวันที่ 17 เมษายน 2518 นั้น ก็ปรากฏต่อมาว่า เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2521 นายฉกาจได้ขายลิขสิทธิ์เพลงที่นายไพบูลย์แต่งจำนวน 12 เพลง และจำนวน 6 เพลง ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแผ่นเสียงกรุงไทย ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ตามหนังสือสัญญาซื้อขายลิขสิทธิ์เนื้อร้องทำนองเพลง ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนลิขสิทธิ์เพลงของนายไพบูลย์ทั้งหมดมาแล้วตามสัญญา ที่ระบุไว้ในข้อ 1 ว่า นายฉกาจผู้ขายซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกและเป็นผู้รับมรดกของนายไพบูลย์แต่เพียงผู้เดียวตกลงโอนขายสิทธิเพลงทั้งหมดของนายไพบูลย์ตลอดอายุลิขสิทธิ์จริง จำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดแผ่นเสียงกรุงไทยก็หาจำต้องซื้อลิขสิทธิ์เพลงของนายไพบูลย์จากนายฉกาจตามสัญญา จำเลยที่ 1 สามารถอนุญาตให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดแผ่นเสียงกรุงไทยใช้ลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นว่าในขณะทำสัญญาเอกสารหมาย ล.3 ทั้งนายฉกาจและจำเลยที่ 1 มีเจตนาตรงกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 1 มีเจตนาเพียงขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่นายไพบูลย์แต่งจากนายฉกาจผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงดังกล่าวในฐานะทายาทของนายไพบูลย์เท่านั้น มิได้มีเจตนาซื้อลิขสิทธิ์เพลงจากนายฉกาจแต่อย่างใด ลิขสิทธิ์เพลงทั้งหมดที่นายไพบูลย์แต่งในขณะทำสัญญา จึงยังคงเป็นของนายฉกาจ ดังนี้ สัญญาโอนขายลิขสิทธิ์เพลง จึงเป็นสัญญาโอนลิขสิทธิ์เพลงแต่เพียงชื่อ แต่ที่แท้จริงสัญญาเป็นสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์เพลงที่นายไพบูลย์แต่งเท่านั้น เมื่อลิขสิทธิ์ในเพลงที่นายไพบูลย์แต่งทั้งหมดยังคงเป็นของนายฉกาจในขณะทำสัญญาเป็นเพียงสัญญาอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ ไม่ใช่สัญญาโอนลิขสิทธิ์ โจทก์จึงไม่ได้ลิขสิทธิ์ในเพลงทั้งหมดดังกล่าวมาตามสัญญาลงวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมที่นายไพบูลย์แต่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์และของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ