คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องทุกข์หรือการฟ้องคดีกล่าวหาว่าจำเลยหลอกลวงให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้จำเลยนั้น ไม่ถือว่าเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรม การโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 138
หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริตทั้งได้มีการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์นั้นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1329 และมาตรา 1300 แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์เดิมจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้นไม่ได้ (ทั้งนี้ มิพักต้องคำนึงถึงว่าผู้โอนทรัพย์สินให้จะได้ทรัพย์สินนั้นมาโดยนิติกรรมอันเป็นโมฆียะและนิติกรรมนั้นถูกบอกล้างในภายหลัง หรือหาไม่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดที่ ๒๕๐๗ ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๖ วันใดไม่ปรากฎ จำเลยที่ ๑ กับพวก ที่ยังไม่ได้ฟ้อง ใช้อุบายหลอกลวงด้วยเอาความเท็จมากล่าวแก่โจทก์ว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้แทนธนาคารไทยพาณิชย์ ขอซื้อที่ดินของโจทก์ให้แก่ธนาคาร ถ้าโจทก์ประสงค์จะไม่ใช้เงิน ธนาคารจะทำหนังสือกู้ให้ไว้ และให้ดอกเบี้ยด้วย เวลาโอนก็ขอให้โจทก์ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าได้รับเงินค่าที่ดินเรียบร้อยแล้ว เมื่อโอนกันแล้วธนาคารจะออกหนังสือกู้ให้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการเจตนาหลอกลวงให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๑ โจทก์หลงเชื่อได้โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ ๑ ไป เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ ในราคา ๒๗๕,๐๐๐ บาท แต่แล้วโจทก์ก็หาได้รับหลักฐานการกู้จากธนาคารไม่ โจทก์ทวงถามจำเลยที่ ๑ กลับให้อุบายหลออกลวงทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิการยน ๒๔๙๖ โจทก์เพิ่งทราบว่าธนาคารไทยพาณิชย์มิได้กู้เงินโจทก์ โจทก์จึงร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๔๙๗ และดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ รับสารภาพ ศาลตัดสินลงโทษ คดีถึงที่สุด เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้โฉนดไปจากโจทก์แล้วได้สมยอมขายฝากกับจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ จำเลยที่ ๑ ได้โอนขายที่ดินดังกล่าวให้จำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆะ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กรรมสิทธิ์จำเลยที่ ๑ ไม่มีสิทธิจะโอนที่ดินให้แก่ใครต่อไป การจดทะเบียนระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๖ และระหว่างจำเลยที่ ๒ กับ จำเลยที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ ตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑-๒ -๓ เสีย ให้จำเลยโอนที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามเดิม ถ้าโอนไม่ได้ ก็ให้ร่วมกันใช้ราคา ๒๗๕,๐๐๐ บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละ ๗ ครึ่งต่อไป นับแต่ ๒+ มิถุนายน ๒๔๙๙ จนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้มีการจดทะเบียนโดยชอบ หากจะมีการหลอกลวงกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่สามารถจะทราบได้ จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากไว้โดยสุจริตและมีค่าตอบแทน ตามฟ้องของโจทก์ก็รับในข้อนี้ ทั้งโจทก์ก็รู้เห็นด้วยในการขายฝาก โจทก์ขอเพิกถอนนิติกรรมขายฝากไม่ได้ การที่จำเลยที่ ๑ หลอกลวงโจทก์นั้น นิติกรรมหาตกเป็นโมฆะไม่ เป็นเพียงโมฆียะเท่านั้น บุคคลที่ ๓ รับซื้อโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนแล้ว เจ้าของจะเรียกคืนไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๙ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย เพราะไม่ได้ทวงถาม
จำเลยที่ ๓ให้การว่า โจทก์จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ไม่ทราบ การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จะเป็นการสุจริตหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่อาจทราบได้ แต่จำเลยที่ ๓ รับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยชอบแล้ว จำเลยที่ ๓ ย่อมได้กรรมสิทธิ์ นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ หาตกเป็นโมฆะไม่ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ก็ยังได้เช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ ๓ เป็นการรับรู้ว่าจำเลยที่ ๓ ได้กรรมสิทธิ์มาโดยสุจริต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เกิดขึ้นโดยโจทก์สำคัญผิดในตัวบุคคลอันเป็นสารสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงตกเป็นโมฆะ การโอนก็ไม่เกิดขึ้น กรรมสิทธิ์จึงยังเป็นของโจทก์ไม่ตกไปยังจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีสิทธิเอาไปทำนิติกรรมแก่ผู้ใด การที่จำเลยที่ ๒ รับซื้อฝากที่นี้ไว้จากจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่มีสิทธิจะขายฝากจึงไม่เกิดผล แม้การขายฝากจะหลุดเป็นสิทธิแก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ก็ไม่มีสิทธิเอาไปทำนิติกรรมขายคนอื่น การที่จำเลยที่ ๓ รับซื้อไว้จากจำเลยที่ ๒ ซึ่งไม่มีสิทธิก็ไม่ทำให้จำเลยที่ ๓ มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ ไม่ว่าจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ จะทำโดยสุจริตเปิดเผยเสียค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม พิพากษาให้เพิกถอนทำลายนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้เพิกถอนการทำลายการโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ ให้จำเลยที่ ๓ โอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ตามเดิมโดยปราศจากภาระใด ๆ หากจำเลยไม่ยอมก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนายอมของจำเลยต่อไป
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นิติกรรมตกเป็นเพียงโมฆียะ แต่ตามฟ้องและข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าโจทก์ได้บอกล้าง การร้องทุกข์ก็ดี การฟ้องก็ดี ไม่ใช่การบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับซื้อฝาก และรับโอนโดยสุจริต และมีค่าตอบแทน ได้รับความคุ้มครอง พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น เฉพาะที่ให้จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ต้องรับผิดต่อโจทก์ นอกนั้นยืนตามศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ชี้ขาดว่าสัญญาซื้อขายที่พิพาทระหว่างโจทก์กลับจำเลยที่ ๑ ตกเป็นโมฆะไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบด้วยวิธีพิจารณา เพราะศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วว่านิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๒๑ ไม่ใช่ตกเป็นโมฆะดังคำวินิจฉัยจองศาลชั้นต้น ที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฎในสำนวนสนับสนุนคำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์หยิบยกข้อเท็จจริงขึ้นกล่าววินิจฉัยแต่เฉพาะข้อเท็จจริงที่มีปรากฎในสำนวนเท่านั้น จึงเป็นการชอบแล้ว ส่วนข้อที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้ร้องทุกข์ ได้ฟ้องคดีเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการร้องทุกข์ก็ดี การฟ้องคดีก็ดี ไม่ใช่การบอกล้างโมฆียะกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘ อย่างไรก็ดี ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์จะได้บอกล้างโมฆียะกรรมนั้นหรือไม่ ย่อมไม่ใช่ข้อสำคัญเพราะข้อเท็จจริงแห่งคดีฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้มาซึ่งที่พิพาทโดยมีค่าตอบแทนและโดยสุจริต และได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์โดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๒๙ และมาตรา ๑๓๐๐ แล้ว โจทก์ก็ย่อมขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนนั้นไม่ได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ตกไป ส่วนฎีกาโจทก์ในข้ออื่นนั้นเป็นการกล่าววกเวียนเพื่อให้ฟังว่านิติกรรมตกเป็นโมฆะไม่มีทางเป็นไปได้ดังโจทก์กล่าวอ้างที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share