คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4012/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อสินค้าคงเหลือเป็นสินค้าเสื่อมราคาและมีราคาตลาดเพียงร้อยละ 15 ของราคาทุน การตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาตลาด ซึ่งต่ำกว่าราคาทุนจึงเป็นไปตามเงื่อนไขของประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (6)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติว่าโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2517 โดยจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า อะไหล่ และรับซ่อมรถยนต์ด้วย เดิมโจทก์ได้ตีราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามราคาทุนเรื่อยมาทุกปีจนเมื่อปี 2528 โจทก์ได้ตีราคาสินค้าคงเหลือที่ซื้อมาเกิน 3 ปีให้ต่ำกว่าทุนโดยใช้เกณฑ์ร้อยละ 15 ของราคาทุน ทำให้สินค้าคงเหลือมีมูลค่าต่ำลงกว่ามูลค่าเดิม 1,746,858.80 บาท โจทก์ได้ยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีภาษี 2528 ต่อมาโจทก์ได้รับหนังสือจากเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้นำภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวม 1,611,510 บาท ไปชำระภายใน 30 วัน โดยอ้างว่าโจทก์ตีราคาสินค้าคงเหลือปลายงวดต่ำกว่าราคาทุนเป็นเงิน1,746,858.80 บาท โจทก์ได้อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ลดเบี้ยปรับลงเป็นเงิน 348,058.51 บาท โดยเหตุผลว่า โจทก์ปฏิบัติผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คงเรียกเก็บภาษีเพิ่มเงินเพิ่มภาษีและเบี้ยปรับเพียง 1,263,452 บาท โจทก์ยังไม่เห็นด้วย จึงได้ฟ้องเป็นคดีนี้อ้างว่าโจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าคงเหลือในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 ตามราคาตลาดในการคำนวณกำไรสุทธิตามเงื่อนไขในกฎหมายโดยลดราคาสินค้าลงเหลือร้อยละ 15 ของราคาทุน จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า โจทก์ลดราคาสินค้าคงเหลือต่ำลงกว่ามูลค่าเดิม 1,746,858.80 บาท จึงได้ปรับปรุงยอดกำไรสุทธิใหม่แล้วแจ้งประเมินให้โจทก์เสียภาษีตามฟ้อง
ปัญหาจึงมีว่า โจทก์ได้คำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซึ่งน้อยกว่าราคาทุนหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีนายสวิง สรรพาณิชย์ผู้สอบบัญชีของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า นายสวิงเริ่มสอบบัญชีของโจทก์เมื่อปี 2528 ต่อจากผู้สอบบัญชีคนเก่า สอบถามแล้วปรากฏว่าก่อนหน้านี้โจทก์คำนวณราคาสินค้าคงเหลือตามราคาทุนตลอดมา นายสวิงเห็นว่าไม่ถูกต้อง การคำนวณราคาสินค้าคงเหลือจะต้องคำนวณตามราคาทุนหรือราคาตลาดแล้วแต่อย่างใดจะน้อยกว่า จึงแจ้งให้โจทก์ตรวจสอบราคาตลาดของสินค้าคงเหลือ แล้วโจทก์ได้คำนวณกำไรสุทธิ โดยถือราคาสินค้าคงเหลือตามราคาตลาดซึ่งน้อยกว่าราคาทุนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และได้ความจากนางทองรวย จึงตระกูล หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์ นางสาววนิดา ติงประเสริฐสิน ผู้จัดการฝ่ายอะไหล่ของโจทก์กับนางสาวดวงใจ ไตรบัญญัติกุล พนักงานของโจทก์อีกว่า เมื่อโจทก์ได้รับแจ้งจากนายสวิงดังกล่าวแล้วได้โทรศัพท์สอบถามไปยังบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ถึงราคาอะไหล่ค้างสต๊อกโจทก์ได้รับแจ้งว่าอะไหล่ค้างสต๊อกจะมีราคาเหลือเพียงร้อยละ 15ของราคาทุน โจทก์จึงได้ตรวจสอบอะไหล่ที่เหลือโดยแบ่งออกเป็น 2 จำพวกคืออะไหล่ที่เหลือไม่เกิน 3 ปี จะคำนวณในราคาทุนและอะไหล่ที่เหลือเกิน 3 ปี ซึ่งเป็นอะไหล่ตกรุ่น เสื่อมคุณภาพ ชำรุด หรืออะไหล่ตกค้างขายไม่ออก อะไหล่ที่มีอายุเกิน 3 ปีนี้ โจทก์ได้ออกรายการแยกเป็นบัญชีไว้ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26-71 ซึ่งเป็นสินค้าคงเหลือที่พิพาทนี้ หลังจากถูกเจ้าพนักงานประเมินเรียกตรวจสอบไต่สวนการคำนวณราคาสินค้าพิพาท โจทก์จึงได้ขอให้บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ทำหนังสือแจ้งราคาสินค้าค้างสต๊อกดังกล่าว ซึ่งโจทก์ก็ได้รับแจ้งมาดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 7 จะเห็นได้ว่า อะไหล่ซึ่งเป็นสินค้าคงเหลือเกิน 3 ปีนี้นางสาววนิดากับนางสาวดวงใจยืนยันว่าเป็นผู้แยกประเภทและทำรายการตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26-71 ออกมาเอง ซึ่งจำนวนอะไหล่คงเหลือนี้จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งนางสาววนิดากับนางสาวดวงใจก็ยืนยันว่าเป็นอะไหล่ที่เก็บไว้เกิน 3 ปี บางชนิดก็ตกรุ่นขายไม่ออกบางชนิดชำรุดเสื่อมคุณภาพ หลังจากเจ้าพนักงานประเมินโต้แย้งการคำนวณราคาสินค้าพิพาทของโจทก์ โจทก์ก็ได้มีหนังสือขอให้ฝ่ายจำเลยส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบสินค้าพิพาทซึ่งขณะนั้นยังค้างอยู่ในสต๊อกแต่ฝ่ายจำเลยก็ไม่ยอมไป หากไปอย่างน้อยก็อาจตรวจจำนวนและหมายเลขของอะไหล่ว่าตรงกับรายการในเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 26-71ที่โจทก์ทำไว้หรือไม่ มีร่องรอยของความชำรุดตามที่โจทก์อ้างหรือไม่เมื่อโจทก์มีพยานเบิกความยืนยันว่าสินค้าพิพาทเสื่อมราคาและจำเลยไม่มีพยานมาสืบหักล้าง จึงน่าเชื่อว่าสินค้าพิพาทมีราคาตลาดน้อยกว่าราคาทุนในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2528 และโจทก์มีนายสุนทร วรเดชวิเศษไกร รองผู้จัดการฝ่ายอะไหล่ของบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด เป็นพยานสนับสนุนอีกว่าทางบริษัทเคยให้คำปรึกษาเรื่องราคาอะไหล่ที่ตกค้างแก่โจทก์จริงโดยแจ้งว่าจะเหลือราคาเพียงร้อยละ 15 ของราคาทุน ต่อมาโจทก์ขอให้บริษัทแจ้งราคาดังกล่าวเป็นหนังสือ นายสุนทรจึงทำหนังสือตามเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 7 แจ้งให้โจทก์ทราบ ราคาสินค้าตกค้างนี้เป็นราคาที่บริษัทเคยรับซื้อคืนจากตัวแทนจำหน่ายเป็นการกำหนดราคาจากวิธีคำนวณตามวิชาสถิติการจำหน่าย จึงมิใช่หลักเกณฑ์ที่โจทก์กำหนดเองดังที่จำเลยอ้าง แม้โจทก์จะสอบราคาไปที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด แห่งเดียว แต่บริษัทดังกล่าวย่อมทราบวิธีกำหนดราคาสินค้าตกค้างดี เพราะจำหน่ายมานานมีตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศ ส่วนที่โจทก์ขายสินค้าพิพาทให้แก่อู่สุขุมวิท 47 ในเวลาต่อมาในราคาเพียง 252,879 บาท ต่ำกว่าที่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ที่ตีราคาเหลือร้อยละ 15ของราคาทุนเป็นเงิน 308,169 บาท นั้น เหตุที่โจทก์ไม่นำไปขายให้แก่บริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ซึ่งให้ราคาสูงกว่าเพราะโจทก์เพิ่งขายให้แก่อู่สุขุมวิท 47 เมื่อปี 2532 ซึ่งในตอนนั้นบริษัทโตโยต้ามอเตอร์ประเทศไทย จำกัด ไม่มีนโยบายรับซื้อคืนแล้วแม้ราคาจะเหลือเพียงร้อยละ 15 ก็ตาม ซึ่งกลับทำให้เห็นว่าราคาสินค้าพิพาทเหลือไม่เกินกว่าร้อยละ 15 คดีฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีราคาตลาดตามที่โจทก์นำสืบ ซึ่งน้อยกว่าราคาทุนต้องตามเงื่อนไขในประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (6) การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมิชอบอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share