คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 243/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อไม้กองอยู่ริมทางเดินห่างจากบ้านของจำเลยประมาณ 2 กิโลเมตร จำเลยมิได้ชักลากไม้มาเก็บรักษาไว้ในอารักขาของตน และตามสัญญาผู้ว่าจ้างอาจมาขนไม้จากที่เดิมไปเมื่อใดก็ได้เพียงแต่แจ้งให้ผู้รับจ้างทราบ แสดงว่าอำนาจการครอบครองไม้ยังคงอยู่แก่ผู้ว่าจ้างมิได้ส่งมอบให้แก่ผู้รับจ้างผู้รับจ้างคงมีหน้าที่เพียงเฝ้ามิให้ไม้สูญหายไปเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่รับฝากมาเก็บรักษาไว้ในอารักขาของตน สัญญาดังกล่าวจึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อกฎหมายลักษณะจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 164 เดิม คือมีอายุความ 10 ปี.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย โดยเป็นกรมในรัฐบาลนายชวลิต รักร่วม ป่าไม้อำเภอท่าแชะ จังหวัดชุมพรได้ตรวจพบไม้หวงห้ามแปรรูปหลายชนิดกองอยู่ริมถนนสายบ้านในรักษ์หมู่ที่ 9 ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร จึงทำสัญญาจ้างจำเลยเป็นผู้ดูแลเฝ้ารักษาไม้ดังกล่าว ต่อมา ไม้ได้สูญหายไป จำเลยจึงต้องใช้ค่าปรับให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงิน 162,693 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า นายชวลิตได้ทำสัญญาว่าจ้างให้จำเลยดูแลรักษาไม้โดยมิได้แจ้งให้จำเลยทราบเลยว่าไม้ดังกล่าวอยู่ที่ใด มีจำนวนกี่ท่อน ปริมาตรเท่าใดและเป็นไม้ชนิดใด อีกทั้งมิได้ส่งมอบไม้ดังกล่าวให้แก่จำเลยด้วย สัญญาดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับ นายชวลิตเป็นผู้นำไม้ส่วนที่สูญหายไปเองในขณะที่เจ้าพนักงานป่าไม้ทำการตรวจสอบไม้ จำเลยไม่ได้อยู่ด้วย คดีนี้ค่าเสียหายไม่เกิน45,530 บาท ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 162,693 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยโดยตลอดแล้วข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า นายชวลิต รักร่วม ป่าไม้อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร กับจำเลยได้ทำสัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางกันตามเอกสารหมาย จ.3 จริงมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาประการแรกว่า สัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางเอกสารหมายจ.3 เป็นสัญญาฝากทรัพย์หรือไม่ ซึ่งโจทก์ฎีกาเถียงว่าเป็นสัญญาจ้างแรงงาน ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางเอกสารหมาย จ.3 มีข้อกำหนดเป็นสาระสำคัญว่า ผู้ว่าจ้างตกลงให้ค่าจ้างแก่ผู้รับจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางตามบัญชีท้ายสัญญาเป็นอัตราลูกบาศก์เมตรละ 10 บาท นับแต่วันทำสัญญา (วันที่ 5 พฤศจิกายน2527) เป็นต้นไปจนกว่าผู้ว่าจ้างจะรับไม้ของกลางคืน หากสิ่งซึ่งได้รับจ้างเฝ้ารักษาขาดหายหรือเป็นอันตรายไปจากบัญชีท้ายสัญญาผู้รับจ้างให้ผู้ว่าจ้างปรับไหมเป็นเงินลูกบาศก์เมตรละ 1,800 บาทตามจำนวนที่สูญหายหรือเป็นอันตรายไป และข้อ 4 มีข้อกำหนดว่า”ในระหว่างเวลาที่ผู้รับจ้างรับผิดชอบเฝ้ารักษาไม้ของกลางตามสัญญา ผู้จ้างอาจขนไม้ของกลางที่ผู้รับจ้างเฝ้ารักษาทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใด ๆ ก็ได้แต่ในกรณีเช่นนี้ผู้จ้างต้องแจ้งให้ผู้รับจ้างทราบและทำใบรับไม้ของกลางที่ขนไปนั้นทุกคราวไป และไม้หรือของป่าที่ผู้จ้างได้นำไปแล้วนั้นเป็นอันพ้นจากความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง” ปรากฏว่าหลังจากทำสัญญาจ้างเฝ้ารักษาไม้ของกลางเอกสารหมาย จ.3 แล้ว ไม้ของกลางอยู่ห่างจากบ้านจำเลยประมาณ 2 กิโลเมตร โดยกองอยู่ริมทางเดินในหมู่บ้าน จำเลยมิได้ชักลากไม้ของกลางมาเก็บรักษาไว้ในอารักขาของจำเลยแต่ประการใด และตามรายละเอียดในสัญญาข้อ 4 ผู้ว่าจ้างอาจขนไม้ของกลางทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไปจากที่เดิมในเวลาใด ๆก็ได้ แสดงว่าอำนาจการครอบครองไม้ของกลางยังอยู่แก่ผู้ว่าจ้างมิได้ส่งมอบไม้ของกลางให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้รับจ้างมีหน้าที่เฝ้ารักษามิให้ไม้ของกลางเป็นอันตรายหรือสูญหายไปเท่านั้น ไม่ได้นำทรัพย์สินที่รับฝากมาเก็บรักษาไว้ในอารักขาของตน สัญญาดังกล่าวจึงไม่เป็นสัญญาฝากทรัพย์ แต่เป็นสัญญาจ้างแรงงานตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 685/2512 ระหว่าง กรมป่าไม้ กับพวก โจทก์ นายเกษียรตันติเสวี จำเลย และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1020/2519 ระหว่างกรมป่าไม้ โจทก์ นายการุณ โฆษิตสกุล จำเลย เมื่อกฎหมายลักษณะจ้างแรงงานมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม คือมีอายุความ 10ปี โจทก์ทราบว่าไม้ของกลางสูญหายไป 66 ท่อน เมื่อวันที่ 25กรกฎาคม 2528 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2530จึงหาขาดอายุความไม่ ศาลฎีกาไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
เมื่อปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้วินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าเสียหายตามสัญญาได้หรือไม่ และค่าเสียหายมีเพียงใดจึงมีเหตุอันสมควรที่จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่งให้บริบูรณ์ จึงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาใหม่ให้สิ้นกระแสความ”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษาใหม่.

Share