คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13813/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และ “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหยกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก แต่ก็ยังคงลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 100/1, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 91 ริบของกลาง และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ (ที่ถูก มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง), 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 แต่เฉพาะความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯ ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ จำคุก 8 เดือน ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 10 เดือน ริบของกลาง พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประจำรถ จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ไม่พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด และ “กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด” หมายความว่า กฎหมายว่าด้วยการป้องกันการใช้สารระเหย กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษและกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 57, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ ซึ่งเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องที่ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษอยู่ด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลอุทธรณ์จะยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก แต่ก็ยังคงลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาโจทก์

Share