คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13619/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องตามสัญญาจ้างทำของอันมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่เฉพาะกรณีความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 600 กล่าวคือ ในกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาและงานที่ทำปรากฏการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลัง 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี สำหรับสิ่งปลูกสร้างในพื้นดิน กรณีตามคำฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 333,402.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 333,402.79 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนสูง 7 ชั้น ของโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี เป็นเงิน 33,773,110 บาท จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารเรียนสูง 7 ชั้น ให้แก่โจทก์และส่งมอบงานแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2542 คณะกรรมการตรวจรับงานจ้างของโจทก์ได้ทำการตรวจรับงานและออกหนังสือตรวจการจ้างและรับรองผลการปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2542 หลังจากนั้นอาคารเรียนที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นหลายรายการจำเลยที่ 1 ส่งช่างเข้าไปซ่อมแซมให้แก่โจทก์แล้วหลายครั้ง แต่ที่ชั้นดาดฟ้าและใต้คานผนังอาคารยังมีน้ำรั่วซึมอยู่โดยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์มิได้นำนางกษมา อธิบดีกรมสามัญศึกษามาเบิกความว่าได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดราชบุรี ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนจึงเป็นการที่โจทก์ไม่นำสืบข้อเท็จจริงตามที่กล่าวอ้าง ทำนองว่าไม่น่าเชื่อว่านางกษมาผู้มอบอำนาจได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง และโจทก์เพียงแต่กะประมาณค่าซ่อมแซมอาคารพิพาทมา ทั้งๆ ที่โจทก์ยังมิได้ซ่อมแซมอาคารพิพาทเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การแต่เพียงว่าโจทก์มิได้มอบให้ว่าที่ร้อยตรีมานิตย์เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องคดีด้วยตนเอง ว่าที่ร้อยตรีมานิตย์จึงไม่มีสิทธิฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนั้น มีข้อความว่าโจทก์โดยนางกษมาอธิบดีขอมอบอำนาจให้ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดราชบุรีมีอำนาจในการเรียกชำระหนี้จากจำเลยทั้งสองและแต่งตั้งทนายความฟ้องบังคับชำระหนี้จากบุคคลดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์นำสืบว่า ว่าที่ร้อยตรีมานิตย์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดราชบุรีในขณะนั้น ว่าที่ร้อยตรีมานิตย์ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้ ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นางกษมา อธิบดีกรมสามัญศึกษามิได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจและสิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่เกิดขึ้น เป็นแต่เพียงการกะประมาณการในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งๆ ที่โจทก์ยังมิได้ซ่อมแซมอาคารพิพาทเลยนั้นเป็นข้อที่จำเลยที่ 1 มิได้กล่าวอ้างไว้ในคำให้การ จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยมา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาประการต่อมาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความโดยจำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่าความชำรุดบกพรองได้ปรากฏขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2542 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2545 พ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ความชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 นั้น เห็นว่า การฟ้องร้องให้ผู้รับจ้างรับผิดเพื่อการที่ทำชุดบกพร่องอันมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 601 นั้น ใช้บังคับแก่กรณีที่เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 กล่าวคือต้องเป็นกรณีที่มิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาแล้วงานที่ทำเกิดการชำรุดบกพร่องขึ้นภายหลังส่งมอบกรณีตามคำฟ้องโจทก์หาใช่เป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องอันมีอายุความตามมาตรา 601 แต่เป็นการฟ้องตามข้อสัญญาซึ่งกำหนดความรับผิดเมื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องไว้เป็นอย่างอื่น กรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไปคือ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลฎีกาจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของอาคารเรียนที่เกิดขึ้นหรือไม่เพียงใดนั้น โจทก์มีว่าที่ร้อยตรีมานิตย์ ผู้อำนวยการสามัญศึกษาจังหวัดราชบุรีและเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความว่า สาเหตุที่ฟ้องคดีนี้เนื่องจากโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี ทำสัญญาจ้างให้จำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารเรียนสูง 7 ชั้น หลังจากสร้างเสร็จภายในอายุสัญญาประกันอาคารเรียนเกิดความชำรุดบกพร่อง แต่จำเลยที่ 1 ไม่จัดการแก้ไขให้เรียบร้อย นายสงัด รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จังหวัดราชบุรี พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อคณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับมอบงานแล้ว ต่อมาเกิดความชำรุดบกพร่องของอาคารเรียนที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างหลายรายการ ผู้อำนวยการโรงเรียนได้แจ้งไปยังจำเลยที่ 1 ให้มาแก้ไขถึง 5 ครั้ง จำเลยที่ 1 ส่งคนมาซ่อมแซมให้บ้างเพียงเล็กน้อย ไม่สามารถแก้ไขการชำรุดบกพร่องได้ นายเสริม รองผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พยานโจทก์เบิกความว่า ความชำรุดบกพร่องมีรายละเอียดตามบันทึกข้อความ ค่าเสียหายที่เกิดจากความชำรุดบกพร่องเป็นเงิน 333,402.79 บาท นายเสน่ห์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ราชบุรี พยานโจทก์เบิกความว่า มีการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2544 หลังจากส่งมอบงานแล้วในเดือนกันยายน 2544 พบความชำรุดบกพร่องหลายรายการและโจทก์มีนายณรงค์ ช่างระดับ 7 สำนักอำนวยการกลุ่มออกแบบและก่อสร้าง สำนักงานคณะกรรมการศึกษาพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่สำรวจประมาณราคา ควบคุมและตรวจสอบการก่อสร้างเป็นพยานเบิกความว่า พยานได้รับมอบหมายให้มาสำรวจความเสียหายที่เกิดจากความชำรุดบกพร่อง มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม เป็นเงิน 333,402.79 บาท พยานโจทก์ปากนี้เบิกความยืนยันด้วยว่าความชำรุดบกพร่องเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน พยานโจทก์ทุกปากล้วนแต่เป็นข้าราชการซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ไม่มีเหตุใดที่พยานโจทก์เหล่านี้จะมาเบิกความกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ทั้งยังเป็นพยานที่รู้เห็นและเกี่ยวข้องกับอาคารเรียนที่เกิดการชำรุดบกพร่อง มีน้ำหนักน่าเชื่อถือควรแก่การรับฟังยิ่งกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยน่าเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องเกิดจากการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานตามหลักวิชาชีพวิศวกรรมของจำเลยที่ 1 เมื่อความชำรุดบกพร่องเกิดขึ้นภายในระยะเวลา 2 ปี ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ในฐานะคู่สัญญา จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในส่วนของค่าเสียหายซึ่งได้แก่ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมนั้น ได้ความจากนายณรงค์พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสังกัดหน่วยงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการประมาณราคาควบคุมและตรวจสอบงานก่อสร้าง และสำเร็จการศึกษาวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยของรัฐเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมว่า ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมส่วนที่ชำรุดบกพร่อง เป็นเงิน 333,402.79 บาท ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมดังกล่าวนับว่าชอบด้วยเหตุผลและเหมาะสมดีแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความในชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์

Share