คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้
สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม จะพิจารณาแต่ในทางที่โจทก์มีความประสงค์ใช้เส้นทางแล้วพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอหาได้ไม่ ต้องพิจารณาคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่า การเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายแต่น้อยที่สุดหรือไม่ และการที่จะให้โจทก์ใช้ทางสาธารณะ อันจะเป็นการกระทบสิทธิในที่ดินของบุคคลอื่นอีกย่อมไม่สมควรกระทำ
เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แม้จะยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งจำเลยเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทตั้งอยู่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นใช้ค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก่อน จะถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าทดแทนเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์หาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอบังคับให้จำเลยทำถนนทางออกมีความกว้าง 8 เมตร ยาว 50 เมตร ตามเดิม เพื่อให้โจทก์ใช้เป็นทางจำเป็นผ่านที่ดินของจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะได้ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการทำถนนทางออกโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 165,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยชำระค่าเสียหายอัตราเดือนละ 10,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยทำถนนทางออกให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยออกไปสู่ทางสาธารณะได้ตามเดิม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง สำหรับที่ดินของจำเลยมีราคาไร่ละ 500,000 บาท หรือตารางวาละ 1,250 บาท และขอฟ้องแย้งว่า หากโจทก์จำต้องใช้ประโยชน์ที่ดิน ให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนตามจำนวนเนื้อที่และโจทก์ต้องเลือกใช้ที่ดินไปตามแนวเขตรอบที่ดิน ไม่ใช่ผ่านกลางที่ดิน และให้ทางมีความกว้างไม่เกิน 3 เมตร หรือน้อยกว่านั้น ความยาวให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพื้นที่ นอกจากนี้ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนในการใช้ทางจำเป็นเป็นรายปี ๆ ละ 2,000 บาท
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท และให้ยกฟ้องแย้ง ค่าฤชาธรรมเนียมส่วนฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายน้ำสายใหญ่สามชุก 1 ซึ่งอยู่ติดแนวเขตที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันตกเป็นทางสาธารณะที่ใช้เป็นทางออกจากที่ดินของโจทก์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์กับนายสะอิ้ง และนายพีรวัฒน์ ซึ่งเคยอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์มาก่อนเป็นพยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า สภาพของแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 ที่ใช้เป็นคลองส่งน้ำ ปัจจุบันในช่วงเวลาหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นคงมีเฉพาะช่วงเวลาที่น้ำหลากที่ทางราชการจะใช้รถแบ็กโฮมาตักผักตบชวาออกเพื่อระบายน้ำซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่ก็จะใช้เรือออกหาปลาหรือเก็บผักกะเฉดที่ขึ้นริมแม่น้ำ ประชาชนทั่วไปไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจร ทั้งไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าใช้สัญจรผ่านไปมานานแล้ว และเมื่อโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาก็ได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยที่เจ้าของที่ดินเดิมอ้างว่าเคยใช้เป็นทางผ่านมากว่า 30 ปี ผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งความข้อนี้จำเลยเองก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านยอมรับว่า แม่น้ำท่าคอยไม่มีเรือโดยสารวิ่งออกรับส่งผู้โดยสาร มีเพียงเรือชาวบ้านที่ใช้หาปลาเท่านั้น อันเป็นการเจือสมกับคำเบิกความพยานโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบกับภาพถ่ายของผักตบชวาที่หนาแน่นเต็มแม่น้ำแล้ว น่าเชื่อว่า ข้อเท็จจริงเป็นไปดังที่พยานโจทก์เบิกความ ดังนี้ แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์และพยานจำเลยตรงกันว่า ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมา คงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชวาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง ดังที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยไม่ แต่น่าจะมีความหมายว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยาก ลำบากอื่นทำนองเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานโจทก์ว่า เจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ ที่จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมโดยทราบอยู่แล้วว่าไม่มีทางผ่านที่ดินของจำเลยออกสู่ทางสาธารณะทำนองโจทก์สมัครใจซื้อที่ดินซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเองนั้น เห็นว่า สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง ข้ออ้างของจำเลยหาทำให้สิทธิในทางจำเป็นของโจทก์ที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยต้องระงับสิ้นไปแต่อย่างใด
ปัญหาประการต่อไปมีว่า โจทก์จะขอให้จำเลยเปิดทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยเพื่อออกสู่ทางสาธารณะตามแผนที่สังเขป มีความกว้างของทางเพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า “ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่าน กับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็น ผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้” ดังนั้น จึงจะพิจารณาแต่ในทางที่โจทก์มีความประสงค์ใช้เส้นทาง แล้วพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอหาได้ไม่ ต้องพิจารณาคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่า การเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายแต่น้อยที่สุดหรือไม่ ที่จำเลยเบิกความว่า หากโจทก์จะใช้ทางพิพาทเป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะ จะทำให้ที่ดินของจำเลยเสื่อมสภาพ เพราะเป็นการขอออกกลางที่ดิน ทำให้แบ่งแยกที่ดินของจำเลยออกเป็น 2 แปลง จำเลยจะเสียหายมาก ซึ่งทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้ของที่ดินโจทก์มีทางสาธารณประโยชน์อยู่ในที่ดินของนายวิรัฏฐ์ 1 แปลงอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ หากโจทก์จะใช้ทางสาธารณะด้านทิศตะวันออกของที่ดินนายวิรัฏฐ์ ผ่านที่ดินของจำเลยทางด้านทิศใต้ออกสู่ทางสาธารณะก็จะเป็นการสะดวกนั้น เห็นว่า เมื่อดูจากแผนที่สังเขป ประกอบกับรูปแผนที่ในสำเนาโฉนดที่ดินของนายวิรัฏฐ์ แล้ว ก็จะเห็นได้ชัดว่า ทางสาธารณประโยชน์ที่จำเลยอ้างนั้นมีอยู่เฉพาะในที่ดินแปลงที่ 317 ของนายวิรัฏฐ์เท่านั้น มิได้มีมาจดทางสาธารณประโยชน์ของด้านทิศใต้ของที่ดินจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น การที่จะให้โจทก์ใช้ทางสาธารณะเส้นนี้ก็จะต้องขอเปิดทางจำเป็นในที่ดินแปลงเลขที่ 332 อีกแปลงหนึ่งด้วย อันจะเป็นการกระทบสิทธิในที่ดินของบุคคลอื่นอีก ซึ่งย่อมไม่สมควรกระทำ ข้ออ้างของจำเลยดังกล่าวจึงฟังไม่ขึ้น จำเลยยังคงต้องเปิดทางพิพาทให้เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ แต่ที่โจทก์ขอให้เปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้างถึง 8 เมตร นั้น เห็นได้ชัดว่าเกินกว่าความจำเป็นที่โจทก์จะต้องใช้เป็นถนนให้รถยนต์สามารถผ่านเข้าออกได้ ซึ่งในข้อนี้โจทก์เองก็เบิกความว่า เดิมทางพิพาทที่เจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์ใช้อยู่ในที่ดินของจำเลยมีความกว้างประมาณ 6 เมตร ปัจจุบันเหลือเพียง 4 เมตร และจำเลยก็เบิกความว่า หากจะใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทำเป็นถนนก็ควรจะมีความกว้างเพียง 3 เมตร ดังนี้ จึงเห็นควรกำหนดให้จำเลยเปิดทางจำเป็นให้โจทก์ผ่านที่ดินของจำเลยกว้าง 4 มตร
ปัญหาประการต่อไปมีว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ เพียงใด และจำเลยยังจะเรียกให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นให้แก่จำเลยได้หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า ที่ดินของโจทก์อยู่ติดแม่น้ำท่าคอย ซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์อยู่แล้ว ทางพิพาทจึงมิใช่ทางจำเป็น ศาลล่างทั้งสองจึงมิได้วินิจฉัยในส่วนของปัญหาทั้งสองนี้ไว้ ทั้งปัญหาตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้โจทก์ชดใช้ค่าทดแทนความเสียหายในที่ดินของจำเลยนั้น เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลที่ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แม้จะยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ก็ไม่มีสาระหรือความจำเป็นใดที่จำเลยจะต้องอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีกเพราะคำพิพากษาเป็นผลดีแก่จำเลยอยู่แล้ว ดังนี้ เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งจำเลยเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทตั้งอยู่มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นใช้ค่าทดแทนได้ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349 วรรคท้าย เช่นนี้ ศาลฎีกาย่อมยกปัญหาทั้งสองนี้เป็นคำวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเองได้ โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก่อน จะถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าทดแทนเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีความเห็นหาได้ไม่ ที่ดินจำเลยอยู่ติดทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งย่อมต้องมีราคาสูงกว่าที่ดินของโจทก์ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์อยู่มาก ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามพยานของจำเลยว่า ที่ดินของจำเลยมีราคาซื้อขายกันที่ไร่ละ 300,000 บาทหรือตารางวาละ 750 บาท เมื่อทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยตามที่ศาลกำหนดให้กว้าง 4 เมตร ยาวประมาณ 50 เมตร คำนวณเนื้อที่ได้ประมาณ 50 ตารางวา หากซื้อขายกันก็จะมีราคา 37,500 บาท จึงเห็นควรกำหนดค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นให้โจทก์ชดใช้แก่จำเลยเป็นการเหมาในคราวเดียวเป็นเงิน 30,000 บาท ซึ่งเมื่อนำไปหักกลบกับค่าเสียหายที่ศาลกำหนดให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์จำนวน 12,000 บาท แล้ว โจทก์จึงยังคงต้องชดใช้เงินเป็นค่าทดแทนการใช้ทางจำเป็นในที่ดินของจำเลยให้แก่จำเลยอีก 18,000 บาท ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งของจำเลยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับ ให้จำเลยเปิดทางพิพาทตามแผนที่สังเขป กว้าง 4 เมตร ยาวตลอดที่ดินของจำเลยไปจดทางสาธารณประโยชน์ ด้านทิศตะวันออกให้เป็นทางจำเป็นแก่โจทก์ใช้เดินผ่านออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ ให้จำเลยจัดทำถนนมีความกว้างยาวดังกล่าวทดแทนของเดิมที่จำเลยรื้อถอนไปให้มีสภาพคงเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของจำเลยเอง และให้โจทก์ชำระเงินค่าทดแทนอีกจำนวน 18,000 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องและฟ้องแย้งของทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share