คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2512/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานฉ้อโกงประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 343 มีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวง ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306, 312, 315 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 343 และให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 878,169.19 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306, 312 (ที่ถูก มาตรา 312 (2) (3)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก) การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด แต่ละบทมีโทษเท่ากัน (ที่ถูก ความผิดตามมาตรา 306 กับมาตรา 312 (2) (3) แต่ละบทมีโทษเท่ากัน) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จึงให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฐานเป็นกรรมการผู้จัดการของนิติบุคคลร่วมกันทำหรือยินยอมให้ทำบัญชีหรือเอกสารของนิติบุคคลไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริงหรือเป็นเท็จและโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์สินของประชาชนผู้ถูกหลอกลวงเพียงบทเดียว จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 8 ปี ส่วนจำเลยที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 315 (ที่ถูก มาตรา 315 ประกอบมาตรา 306, 312 (2) (3)) ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 343 (ที่ถูก มาตรา 343 วรรคแรก และไม่ปรับบทมาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 4 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยที่ 4 ฐานกระทำการด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่กรรมการผู้จัดการนิติบุคคล ให้กระทำความผิดตามมาตรา 306, 312 (2) (3) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 8 ปี กับให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 878,169.19 บาท แก่ผู้เสียหาย คำขออื่นให้ยก (ที่ถูก ไม่ต้องระบุว่า คำขออื่นให้ยก)
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ลดโทษให้แก่จำเลยทั้งสี่คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลในพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 โดยเป็นบริษัทมหาชนจำกัดที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้เสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชน เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 2 เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงินและบัญชี รับผิดชอบด้านการเงินและบัญชีของบริษัท จำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ รับผิดชอบจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่ถนนสุขุมวิท ซอย 38 โดยก่อนหน้านั้นมีนางธนานันท์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และนางธนานันท์ยังเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรรที่เมืองพัทยาด้วย เดิมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) เนื่องจากอยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ จนกระทั่งวันที่ 23 พฤศจิกายน 2547 ศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ต่อมาบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้รับจ้างเป็นที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง 2 สัญญา คือ สัญญาระหว่างบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) กับบริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด ตกลงให้ค่าตอบแทนเป็นค่าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและจัดหาแหล่งเงินเพื่อใช้ดำเนินการ 3,000,000 บาท ค่าควบคุมงานและดูแลสถานที่ 3,720,000 บาท รวม 6,720,000 บาท และสัญญาระหว่างบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) กับบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด ตกลงให้ค่าตอบแทนเป็นค่าศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ 6,880,000 บาท ค่าที่ปรึกษา ควบคุมและปรับปรุงการออกแบบ 12,900,000 บาท รวม 19,780,000 บาท โดยสัญญาทั้งสองฉบับลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 มีนางธนานันท์ และจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของทั้งสองบริษัทลงลายชื่อเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ตกลงให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 สำหรับบริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด นั้น นางธนานันท์ได้ทำสัญญาขายกิจการของบริษัทให้แก่จำเลยที่ 4 ทั้งนี้นางธนานันท์ได้โอนหุ้นให้แก่จำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทแทนนางธนานันท์ ต่อมาบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้ส่งมอบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแก่บริษัทเดอะเบสท์ คอนโดมิเนียม จำกัด และบริษัทซิลเวอร์ เฮอริเทจ จำกัด บริษัททั้งสองโดยจำเลยที่ 4 และนางธนานันท์ได้สั่งจ่ายเช็คชำระเงินค่าจ้างค่าบริการแก่บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ต่อมาวันที่ 25 เมษายน 2548 บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) มีหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อขออนุมัติย้ายสถานะของบริษัทออกจากหมวดบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ (REHABCO) ที่ถูกระงับการซื้อขายหลักทรัพย์กลับสู่หมวดปกติที่สามารถซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เพื่อตรวจสอบงบการเงินของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำงบการเงินประจำปี 2547 สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2547 โดยจำเลยที่ 1 และนายประณัย ลงลายมือชื่อรับรอง และจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดส่งงบการเงินดังกล่าวให้แก่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 และบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) โดยจำเลยที่ 1 ได้ส่งข้อมูลสรุปสถานะการประกอบธุรกิจของบริษัทเข้าสู่เว็บไซด์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้งบการเงินดังกล่าวได้รับรู้รายได้ของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) คือ ค่าบริการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการตามสัญญาที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทั้งสองสัญญารวมเป็นเงิน 9,880,000 บาท ซึ่งปรากฏอยู่ในรายการงบกำไรขาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์มีคำสั่งให้บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบกรณีพิเศษ และได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่ามีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายได้จากสัญญาที่ปรึกษาโครงการก่อสร้างทั้งสองสัญญา ซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก ต่อมาตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์จากหมวด REHABCO ไปยังกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง หมวดธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2548 เป็นต้นไป ต่อมานางสาวณัฐนันท์ ผู้เสียหายได้ซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้กำไรบ้าง ขาดทุนบ้าง จนเหลือหุ้นอยู่ 140,000 หุ้น มูลค่า 878,169.19 บาท แล้วตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีคำสั่งห้ามซื้อขายหุ้นของบริษัทเพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) สำหรับคดีของจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา แต่หลบหนีโดยไม่ได้แสดงตนต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นฎีกา ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จึงเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 หรือไม่ เห็นว่า การกระทำความผิดข้อหาดังกล่าวมีองค์ประกอบที่เหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จแก่ประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 กรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคล โดยทุจริต หลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน โดยนำข้อมูลเท็จไปเผยแพร่ในงบการเงินประจำปี 2547 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยแก่ประชาชนทั่วไป แล้วผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนเข้ามาดูข้อมูลเท็จในงบการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่างบการเงินเป็นความจริง จึงตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทจนเหลือหุ้นที่ยังไม่ได้ขาย 140,000 หุ้น คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 878,169.19 บาท และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ไปซึ่งเงินลงทุนจำนวนดังกล่าวจากผู้เสียหายซึ่งเป็นประชาชนผู้ถูกหลอกลวง เห็นได้ว่าโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวเพียงคนเดียว การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มีความผิดฐานดังกล่าวมาด้วยนั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอและที่มิได้กล่าวในฟ้อง เป็นการไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 306 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share