คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ขายฝากได้ไถ่ที่ดินพิพาทจากผู้ซื้อภายในกำหนดในสัญญาขายฝากแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่การขายฝากก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทยังไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่มีผลใช้บังคับยันกันเองได้ แม้ยังมิได้มีการจดทะเบียนไถ่ ที่ดินที่ขายฝากก็ตกเป็นของผู้ขายฝากทันที ซึ่งมีผลบังคับยันกันได้ระหว่างคู่สัญญา ผู้จัดการมรดกของผู้ขายฝากย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้ผู้ซื้อจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินในระยะเวลาใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๘๕, ๕๗๓ และ ๕๗๔ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ให้แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมะแอ แวเด็ง หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนไถ่ให้แก่โจทก์ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยหากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้ให้ใช้ราคาที่ดิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๔๘๕, ๕๗๓, ๕๗๔ ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ให้แก่โจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมะแอ แวเด็ง (ผู้วายชนม์) หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียน ให้ถือเอาตามคำพิพากษา แทนการแสดงเจตนาของจำเลย และหากจำเลยไม่สามารถจดทะเบียนที่ดินพิพาทคืนให้โจทก์ได้ ให้ใช้ราคาแทน เป็นเงิน ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๒๗ นายมะแอบิดาโจทก์ได้จดทะเบียนขายฝากที่ดินพิพาททั้งสามแปลงแก่จำเลยในราคา ๔๒,๔๒๐ บาท กำหนดไถ่ภายใน ๑ ปี ตามหนังสือสัญญาขายฝากและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ ต่อมาวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๘ นายมะแอ ถึงแก่ความตาย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายมะแอโดยคำสั่งศาลชั้นต้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่านายมะแอไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงภายในกำหนด ๑ ปี ตามสัญญาขายฝากหรือไม่ ได้ความจากพยานโจทก์ว่า เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๒๘ นายมะแอนำเงิน ๔๒,๔๒๐ บาท ไปไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากจำเลยที่บ้านจำเลย จำเลยจึงคืนเอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ ให้แก่นายมะแอแต่ไม่ได้ไปจดทะเบียนไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ต่อมานายมะแอ ถึงแก่ความตาย โจทก์ตรวจพบเอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ จึงดำเนินการติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องจนทราบจาก นายอับดุลเลาะแวหะยี ว่านายมะแอไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงจากจำเลยแล้ว ส่วนจำเลยนำสืบอ้างว่า นายมะแอยังมิได้ไถ่ที่ดินพิพาท เหตุที่เอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ อยู่ที่นายมะแอเนื่องจากในวันจดทะเบียนการขายฝากที่ดินพิพาท จำเลยและนายมะแอต่างไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี หลังจากจำเลยได้ลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ เพื่อจดทะเบียนการขายฝากแล้วจำเลยติดธุระ จำเลยจึงบอกนายมะแอว่าหากจดทะเบียนการขายฝากเสร็จให้นายมะแอนำเอกสาร การจดทะเบียนขายฝากไปให้จำเลยที่ร้านจำเลยด้วย จำเลยยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าวจากนายมะแอเลย เห็นว่า โจทก์มีนายอับดุลเลาะเบิกความยืนยันประกอบเอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ ว่า พยานพร้อมนายมะแอไปพบจำเลยที่ร้านจำเลย เมื่อนายมะแอมอบเงินแก่จำเลยแล้วก็ได้รับเอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ คืนจากจำเลย นอกจากนี้ยังไม่ได้ความจากนายแวบากา ปอซารี อดีตผู้ใหญ่บ้านท้องที่ นายมูหามะ มะตีเยาะ ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ปัจจุบัน และนางแมะโหมง สาแม เจ้าของที่ดินข้างเคียงพยานโจทก์ว่า นายมะแอและครอบครัวครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ดังนั้น การที่นายมะแอได้รับเอกสารทั้งสัญญาขายฝากฉบับผู้ขายฝากกับฉบับผู้รับซื้อฝาก และหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.๒ ถึง จ.๕ มาไว้ในครอบครองโดยมีพยานบุคคลสนับสนุนด้วยเช่นนี้ย่อมทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลมั่นคงเชื่อได้ว่า นายมะแอได้ไถ่ที่ดินพิพาทจากจำเลยภายในกำหนด ๑ ปีตามที่กำหนดไว้ในสัญญาขายฝากแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนไถ่การขายฝากก็เป็นเพียงทำให้การกลับคืนมาซึ่งทรัพยสิทธิในที่ดินพิพาทไม่บริบูรณ์เท่านั้น แต่มีผลใช้บังคับยันกันได้ระหว่างนายมะแอกับจำเลย ทางเจ้าพนักงานที่ดินจะมอบให้ผู้รับซื้อฝากเก็บรักษาไว้ ส่วนผู้ขายฝากจะเก็บรักษาไว้เพียงสัญญาขายฝากฉบับผู้ขายฝากเท่านั้น จำเลยซึ่งเคยรับซื้อฝากที่ดินมาหลายครั้งแล้วย่อมทราบและเข้าใจในเรื่องนี้ จำเลยจะมาอ้างลอย ๆ ว่าในวันที่ จดทะเบียนการขายฝากจำเลยติดธุระอื่นไม่อาจรอรับเอกสารดังกล่าว ย่อมไม่มีน้ำหนักและเหตุผลเพียงพอ อีกทั้งหลังจากจดทะเบียนการขายฝากแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยไปติดตามหาเอกสารดังกล่าวจากนายมะแออีกเลย จนกระทั่งต้นปี ๒๕๓๘ เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งให้จำเลยไปรับรองแนวเขตให้เจ้าของที่ดินข้างเคียง จำเลยจะไปรับรองแนวเขต แต่จำเลยหาเอกสารดังกล่าวไม่พบ จึงไปสอบถามนายมะแอ นายมะแออ้างว่าไม่ทราบ การที่จำเลยปล่อยให้เวลาล่วงเลยมานานประมาณ ๑๐ ปี โดยไม่สนใจที่จะติดตามหาเอกสารดังกล่าวอันเป็นเอกสารสำคัญเช่นนี้ ย่อมเป็นการผิดปกติของจำเลยซึ่งเคยรับซื้อฝากที่ดินมาก่อน ประกอบกับเมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๙ จำเลยเพิ่งยื่นคำขอออกใบแทนหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ที่ดินพิพาท ตามเอกสารหมาย จ.๘ ถึง จ.๑๐ ระบุว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับเจ้าของ ซึ่งจำเลยเก็บไว้สูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงขัดแย้งกับข้ออ้างจำเลยในชั้นพิจารณา ยิ่งทำให้พยานจำเลยมีพิรุธ น่าสงสัยไม่อาจรับฟังตามที่จำเลยอ้างได้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายในกำหนด ๑๐ ปี นับแต่วันที่ ครบกำหนดการไถ่ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ แล้วหรือไม่ เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังวินิจฉัยมาแล้วว่า นายมะแอได้ไถ่ที่ดินพิพาทภายในกำหนด ๑ ปี ตามที่กำหนดในสัญญาขายฝากแล้ว แม้ยังมิได้มีการจดทะเบียนไถ่ที่ดินพิพาทก็ตกเป็นของนายมะแอทันที ซึ่งมีผลบังคับยันกันได้ระหว่างนายมะแอกับจำเลย เมื่อโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายมะแอจึงมีผลบังคับยันกันได้ระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายมะแอเจ้าของที่ดินพิพาททั้งสามแปลงย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนและฟ้องร้องขอให้จำเลยจดทะเบียนไถ่การขายฝากที่ดินพิพาทแก่โจทก์ในระยะเวลาใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .

Share