คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1369/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ่อตาได้ยกครัวมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวกับลูกสาวลูกเขย จนลูกสาวตายลงแล้วได้ยกลูกสาวคนเล็กให้เป็นภริยาลูกเขยอีก ส่วนตนก็ยังคงอยู่ร่วม เป็นครัวเดียวกับลูกเขยต่อมา โดยไม่ขอแบ่ง หรือฟ้องขอแบ่งมรดกของลูกสาวคนแรกเกิน 1 ปี ก็ยังถือไม่ได้ว่า พ่อตาได้ทอดทิ้งไม่ฟ้องร้องว่ากล่าวขอแบ่งมรดก ของลูกสาวคนแรกในอายุความล่วงเลยเกิน 1 ปี เพราะพฤติการณ์ดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าพ่อตาได้เป็นเจ้าของในทรัพย์สินร่วมกับลูกเขยอยู่ด้วย
ทายาทด้วยกันบางคนขอให้ทนายความเข้ามาจัดการเกี่ยวข้องในเรื่องทรัพย์มรดกโดยลำพัง ถือว่าทนายนั้นไม่ใช่ผู้จัดการมรดกอันจะมีอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดการและปันมรดกแต่มีฐานะเพียงแต่เป็นผู้เข้ามาจัดการทรัพย์สิน แทนทายาทผู้ที่ขอให้เข้ามาจัดการเท่านั้น
ทายาทด้วยกันทำความตกลงกันเองให้ทายาทคนหนึ่งเอาที่ดินของกองมรดกเป็นของตนโดยให้เอาเงินเข้ากองมรดกจำนวนหนึ่ง ดังนี้เรียกว่าเป็นการประมูลระหว่างทายาท มิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกให้พ้นจากการเป็นทรัพย์มรดกไปได้ หากเป็นการแบ่งมรดกกันเอง ฉะนั้นที่ดินนั้นยังคงเป็นทรัพย์สินในกองมรดกอยู่ ส่วนเงินจำนวนหนึ่งที่ทายาทผู้นั้นชำระในการประมูล ไม่กลายเป็นทรัพย์สินกองมรดกฉะนั้นถ้าในภายหลังเกิดมีการแบ่งที่ดินแปลงนี้กันใหม่ ทายาทผู้ชำระราคาในการประมูลไปแล้ว ย่อมมีสิทธิหักเงินจำนวน ที่ชำระไปแล้วคืนได้
ถ้าได้มีการขายทรัพย์สินกองมรดกให้แก่บุคคลภายนอกแล้วและไม่ปรากฏว่ามีเหตุไม่สุจริตในการขาย ก็ควรต้องถือเอาจำนวนเงินที่ขายได้นั้นเป็นกองมรดกโดยหักค่าใช้จ่ายในการนั้นๆออกได้
ชายหญิงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หญิงมอบเงินให้กับชาย เพื่อให้หาผลประโยชน์ให้ ชายจึงเอาเงินนั้นไปให้คนอื่นกู้ดังนี้ หาใช่เป็นการตั้งชายเป็นตัวแทนไม่ กรณีดังนี้ชายต้องรับผิดคืนเงินนั้นให้หญิงโดยต้องถือว่า ชายเป็นผู้ให้กู้ ย่อมมีสิทธิและความรับผิดต่อผู้กู้โดยตรง
เงินที่หญิงมอบให้ชายไว้นั้น ก็เท่ากับเงินฝากซึ่งผู้รับฝาก จำต้องคืนให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672
จำเลยให้การว่า สินสมรสไม่มีตามบัญชีท้ายฟ้องโจทก์ บางสิ่งก็ได้มาภายหลังที่ภรรยาตายแล้ว ซึ่งจำเลยนำสืบเวลาพิจารณา ดังนี้ ไม่เป็นการแสดงให้ชัดแจ้งในคำให้การว่าจำเลยปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ในรายการใด จำเลยจะกล่าวเอาเองว่าจะนำสืบในเวลาพิจารณานั้นย่อมไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์จากจำเลยในฐานที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของหลวงมานิตทุมามาน และจำเลยที่ 2 เป็นทายาทโดยกล่าวว่า

(ก) เมื่อ 40 ปีมาแล้ว นางชุบ วิริยะมานิต บุตรีนายเชย วงษ์แพทย์ ซึ่งเป็นพี่สาวของโจทก์ร่วมบิดามารดาเดียวกัน ได้ทำการสมรสเป็นสามีภริยากับหลวงมานิตทุมามาน โดยนางชูบมีทรัพย์สินเดิมตามบัญชีท้ายฟ้องหมายเลข 1 รวมราคา 1,380 บาท และได้มีสินสมรสเกิดขึ้นในระหว่างเป็นสามีภริยากับหลวงมานิตฯ ดังบัญชีหมายเลข 2 รวมราคา 50,113 บาท 64 สตางค์ เมื่อ พ.ศ. 2485 นางชุบถึงแก่กรรมนายเชย วงษ์แพทย์ บิดามีสิทธิควรได้รับมรดกนางชุบรวมเป็นเงิน12,873 บาท แต่หลวงมานิตฯ และนายเชยยังมิได้แบ่งปันกัน คงปกครองร่วมกันมาจนนายเชย วงษ์แพทย์ ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2488 โจทก์เป็นทายาทของนายเชยจึงขอรับมรดกแทนที่

(ข) นอกจากทรัพย์มรดกนางชุบอันควรได้แก่นายเชยดังกล่าวแล้วนายเชยยังมีทรัพย์ส่วนตัว อันควรเป็นมรดกได้แก่โจทก์เก็บรักษาอยู่ในบ้านเรือนที่อยู่ร่วมกับหลวงมานิตฯ อีกดังบัญชีหมายเลข 3 รวมราคา 1,530 บาท

(ค) เมื่อปีเศษมาแล้ว โจทก์ได้เป็นสามีภริยากับหลวงมานิตฯ โดยมีพิธีสมรสทางศาสนาโรมันคาทอลิก และอยู่กินด้วยกันมาจนหลวงมานิตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2488 ในระหว่างอยู่กินด้วยกันหลวงมานิตฯ ได้เอาเงินของโจทก์ไปให้นายชื่อกู้ 2,000 บาท และได้ยึดสร้อยทองคำไว้เป็นหลักประกัน นอกจากนี้หลวงมานิตยังได้เอาสร้อยข้อมือ สร้อยคอของโจทก์ไปเก็บไว้อีก 4 สาย ราคา 1,750 บาท ซึ่งกองมรดกหลวงมานิตฯ ต้องรับใช้ให้แก่โจทก์

(ง) เมื่อหลวงมานิตฯ ถึงแก่กรรมลงแล้ว โจทก์ได้ออกเงินค่าทำศพสิ้นไป 552 บาท ตามบัญชี 4

โจทก์จึงฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ใช้เงินตามฟ้องให้แก่โจทก์

จำเลยต่อสู้ว่า นางชุบไม่มีสินเดิม ฟ้องขาดอายุความมรดกต่อสู้อย่างอื่นอีกหลายประการ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า

(1) ไม่เชื่อว่านางชุบมีสินเดิม นางชุบจึงไม่มีสิทธิในส่วนสมรสของหลวงมานิตฯ โจทก์จึงไม่มีส่วนที่จะรับสินสมรสได้เช่นเดียวกัน

(2) ฟังว่า ทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 3 บางรายการเป็นของนายเชย

(3) เชื่อว่าหลวงมานิตฯ ได้เอาเงินของโจทก์ให้นายชื่นกู้ไป 2,000 บาทจริง และได้เก็บสร้อยของโจทก์ให้ตามบัญชีหมายเลข 5 อันดับ 2 จริง

(4) ค่าทำศพ 552 บาทเชื่อว่า โจทก์ได้จ่ายจริง

จึงพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเท่าที่กล่าวในข้อ 2, 3, 4 ส่วนจำเลยที่ 1 เข้ามาจัดการเกี่ยวข้องในเรื่องหน้าที่ทนายความและโดยความเรียกร้องของจำเลยอื่นที่เป็นทายาทจึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

โจทก์และจำเลยที่ 2, 3, 4 ต่างอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และพิพากษาแก้ว่า

(1) ฟังว่านางชุบมีสินเดิม จึงมีสิทธิได้สินสมรส แต่ปรากฏว่านางชุบตายมาเกินกว่า 1 ปี นายเชยมิได้เรียกร้องขอส่วนแบ่งปันจากหลวงมานิตฯ คดีจึงขาดอายุความแล้ว

(2) เรื่องทรัพย์นายเชย วินิจฉัยว่า ทรัพย์นายเชยมีมากกว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย

จึงพิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยส่งทรัพย์หมายเลข 3 แก่โจทก์มากกว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษา นอกจากนั้นพิพากษายืน

โจทก์ จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นางชุบมีสินเดิม ฉะนั้นเมื่อนางชุบตาย นางชุบจึงมีมรดก คือสินเดิมและสินสมรสส่วนของนางชุบ ส่วนประเด็นที่ว่า สิทธิของนายเชยบิดาจะรับมรดกนางชุบขาดอายุความมรดกแล้วหรือยังนั้น เห็นว่า การที่นายเชยบิดานางชุบและพ่อตาหลวงมานิตฯ บุตรเขย ได้ยกครัวมาอยู่ร่วมเป็นครอบครัวเดียวกับลูกสาวลูกเขยจนลูกสาวตายลง จนลูกเขยได้โจทก์ซึ่งเป็นลูกสาวคนเล็กเป็นเมียอีกคนหนึ่ง แม้ยังมิได้จดทะเบียนสมรส ก็จะยังถือไม่ได้ว่า นายเชยทอดทิ้งไม่ฟ้องร้องว่ากล่าวขอแบ่งมรดกของนางชุบในอายุความล่วงเลย 1 ปี และเห็นว่านายเชยมีส่วนเป็นเจ้าของในกองทรัพย์สินที่จำเลยอ้างว่าเป็นมรดกของหลวงมานิตฯ ทั้งหมดนั้นอยู่ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกของนายเชย คือทรัพย์อันเป็นส่วนตัวเฉพาะนายเชยประเภทหนึ่ง และทรัพย์ที่นายเชยมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมอยู่ในกองทรัพย์สินของหลวงมานิตฯ เป็นส่วนมรดกของนางชุบ อันที่จะตกได้แก่นายเชยอีกประเภทหนึ่ง

สำหรับทรัพย์ประเภทหนึ่งนั้น เห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าทรัพย์ตามบัญชีหมายเลข 3 เป็นของนายเชยทั้งหมด

ส่วนทรัพย์ประเภท 2 ฟังว่า นางชุบมีสินเดิมรวมเป็นเงิน 1,380 บาท

สินสมรสจำเลยเถียงว่า ไม่มีตามบัญชีท้ายฟ้องโจทก์ และหลายสิ่งได้มาเมื่อนางชุบตายแล้ว ซึ่งจำเลยจะนำสืบในเวลาพิจารณาดังนี้ไม่เรียกว่า จำเลยแสดงชัดแจ้งในคำให้การว่าปฏิเสธรายการใด ศาลฟังว่าสินสมรส คือ ที่ดินบ้านเรือน คือ ที่ดินโฉนดที่ 2240 และเรือนปั้นหยาหนึ่งหลังปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำความตกลงกับจำเลยที่ 2, 3 ให้จำเลยที่ 2 เอาเงินเข้ากองมรดก 500 บาท เพื่อเอาที่ดินเป็นของตนและให้จำเลยที่ 3 เอาเงินเข้ากองมรดก 2,500 บาท เพื่อเอาเรือนเป็นของตน เรียกกันว่า เป็นการประมูลระหว่างทายาท ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลล่างที่ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้จัดการมรดกอันจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยวิธีจัดการและปันมรดก ฉะนั้นจำเลยที่ 1 จึงมีฐานะเพียงแต่เป็นผู้เข้าจัดการทรัพย์สินแทนจำเลยที่ 2, 3, 4 และนางชี ฉะนั้นการที่จัดทำกันโดยเรียกว่า ประมูลกันเองในระหว่างทายาทนั้น จึงมิใช่เป็นการขายทรัพย์มรดกให้พ้นจากการเป็นทรัพย์มรดกไปได้ หากเป็นการแบ่งมรดกกันนั้นเอง ราคาที่ต่างชำระในการประมูลจึงไม่กลายเป็นทรัพย์สินกองมรดก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับที่ดินโฉนดที่ 2240 นั้น ก็ยังหาได้มีการทำหนังสือและจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใดไม่ ยังไม่เป็นการซื้อขาย จึงชี้ขาดว่า ที่ดินโฉนดที่ 2440 ยังคงเป็นทรัพย์สิน ในกองมรดกรายนี้อยู่ โดยให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิเรียกเงินจำนวน500 บาทที่จ่ายเข้ากองมรดกคืนไป ส่วนสำหรับเรือนนั้นปรากฏว่าจำเลยที่ 3 รื้อไปหมดแล้ว ควรตั้งราคาตามที่โจทก์ตีราคามาท้ายฟ้องเพราะจำเลยไม่มีพยานผู้ชำนาญในการตีราคามาแสดงเป็นอย่างอื่นจึงกำหนดราคา 8,000 บาท ซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องส่งคืนเข้ากองมรดกหักเงิน 2,500 บาท ที่จำเลยที่ 3 ส่งเข้ากองมรดกไว้แล้ว ส่วนทรัพย์อย่างอื่น อันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่ปรากฏว่ามีการขายให้แก่บุคคลที่ 3 ไปแล้วนั้น ไม่ปรากฏว่ามีเหตุส่อความไม่สุจริต ควรถือเอาราคาที่ขายได้นั้นเป็นกองมรดกโดยหักค่าใช้จ่ายในการนั้น ๆ ออกได้

เงิน 2,000 บาท ที่หลวงมานิตฯ ได้ให้นายชื่นกู้ไปนั้นปรากฏว่าเป็นเงินของโจทก์ ฝ่ายจำเลยถือว่าหลวงมานิตฯ เป็นตัวแทนโจทก์โจทก์ต้องไปเรียกร้องจากลูกหนี้นั้นเอาเอง ศาลฎีกาเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างหลวงมานิตฯ กับโจทก์นั้นก็ยังเป็นผัวเมียกันโดยพฤตินัยเมียมอบเงินให้อยู่ในกำมือผัวเพื่อหาผลประโยชน์ให้ หาใช่เป็นการตั้งตัวแทนให้ไปทำนิติกรรมให้กู้อย่างใดไม่ หลวงมานิตฯ จึงต้องรับผิดคืนเงิน 2,000 บาท ให้โจทก์โดยถือว่าหลวงมานิตฯ เป็นผู้ให้กู้ย่อมมีสิทธิและความรับผิดต่อผู้กู้โดยตรงอยู่ เงินที่โจทก์มอบให้หลวงมานิตฯ ไว้นั้นเท่ากับเงินฝาก ซึ่งผู้รับฝากจำต้องคืนให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 672 จึงชี้ขาดว่าโจทก์มีสิทธิได้รับชำระเงิน 2,000 บาท จากกองมรดกด้วย

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้โจทก์มีสิทธิแบ่งทรัพย์กองมรดกหลวงมานิตฯ ตามนัยที่กล่าวแล้วตามส่วนของโจทก์ด้วย

Share