คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13646/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุ ป.อ. มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท ดังกล่าวรวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขออันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 151, 157, 161, 162, 264, 265, 266 และ 268 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 161, 162 (1), 265, 266 (1) และ 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 และ 266 (1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร ร่วมกันกระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร ร่วมกันรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ ร่วมกันปลอมเอกสารราชการ ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และร่วมกันใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 266 (1) จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอมและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม) จึงให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอม (ที่ถูก ร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอมและเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม) แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นความผิดสองกระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี ฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 10 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำคุก 1 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ในโครงการงบประมาณแต่ละงวดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 10 ปี จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 มาตรา 162 (1) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ในโครงการงบประมาณแต่ละงวดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 21,000 บาท รวม 2 กระทง เป็นจำคุก 2 ปี และปรับ 42,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 3 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน และปรับ 28,000 บาท จำเลยที่ 3 รับราชการมานานโดยไม่ปรากฏข้อเสียหาย ทั้งพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 3 ยังไม่ร้ายแรงนัก สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกของจำเลยที่ 3 ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้จำเลยที่ 3 ฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 ความผิดฐานอื่นสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 เป็นการพิพากษาเกินคำขออันต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ใช้อำนาจในตำแหน่งกระทำการทุจริตเบียดบังเอาเงินงบประมาณไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 แม้โจทก์ระบุประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง โดยไม่ได้ระบุมาตรา 147 ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ จัดการและรักษางบประมาณต่าง ๆ ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว ตามโครงการขุดลอกลำเหมืองหนองถุ หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 เป็นเงินงบประมาณจำนวน 116,000 บาท ได้ใช้จ่ายเงินงบประมาณตามโครงการดังกล่าวจำนวน 69,600 บาท ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,400 บาท ขาดหายไป โดยได้เบียดบังเอาเงินงบประมาณจำนวน 46,400 บาท รวมทั้งเงินงบประมาณตามโครงการอื่นดังที่บรรยายในคำฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตนหรือผู้อื่น อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแก้ว และประชาชนทั่วไป จึงเป็นการอ้างบทมาตราผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ อันจะต้องห้ามตามมาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share