คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10565/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดี
จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้มีคำสั่งว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินโฉนดเลขที่ 40567 และ 40568 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 19 ตารางวา และ 12 ตารางวา ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ออกไปจากที่ดินพิพาท (ที่ดินตามแนวเขตเส้นสีเขียว ในแผนที่วิวาท) ของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนกำแพงรั้วคอนกรีตพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องแย้ง ค่าธรรมเนียมศาลในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสองและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เดิมจำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สร้างรั้วคอนกรีตล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่หลังจากที่มีการรังวัดสอบแนวเขตที่ดินจนทราบว่าจำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้ว จำเลยจึงขอแก้ไขคำให้การเดิมและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองอันเป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในเชิงคดี การที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกา แต่คำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไม่เป็นการขอแก้ไขคำให้การในข้อสาระสำคัญดังที่โจทก์ทั้งสองอ้าง ตรงกันข้ามกลับเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงตามคำฟ้องว่า จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองจริง เพียงแต่ยกข้อต่อสู้ใหม่ขึ้นกล่าวอ้างว่า จำเลยครอบครองที่ดินส่วนนั้นมานานเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนมีการชี้สองสถาน ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินคดีของโจทก์ทั้งสองให้โจทก์ทั้งสองเสียเปรียบในการดำเนินคดีตามที่โจทก์ทั้งสองฎีกา ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า แม้จำเลยจะถมดินและสร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2536 ก็ตาม แต่จำเลยยังไม่เข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของจำเลย ยังไม่ถือว่าจำเลยเข้าครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองตั้งแต่วันที่จำเลยสร้างรั้วล้ำเข้าไป เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเพิ่งเข้าไปอยู่ในที่ดินของจำเลยเมื่อปี 2539 นับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่ครบสิบปีตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บัญญัติไว้ จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยการครอบครองนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 สร้างรั้วล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ 2 เป็นเนื้อที่ 12 ตารางวา ซึ่งทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ตารางวาละ 13,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 156,000 บาท ทุนทรัพย์ของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ที่ 2 มา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองต่างซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2546 อันเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยครอบครองที่ดินของโจทก์ทั้งสองโดยสงบ โดยเปิดเผยติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว ทั้งเป็นการซื้อที่ดินทั้งสองแปลงมาโดยไม่สุจริต เห็นว่า แม้คดีของโจทก์ที่ 2 ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่เมื่อพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่ เป็นพยานหลักฐานชุดเดียวที่เกี่ยวพันไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วย เพราะโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินแต่ละแปลงมาพร้อมกัน ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ทั้งสองยังมีหนังสือฉบับเดียวกันแจ้งให้จำเลยรื้อรั้วออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่วินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 อาจส่งผลให้คำพิพากษาสำหรับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ขัดแย้งกัน ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 146 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 246 และ 247 ให้ถือคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่สูงกว่ามาใช้บังคับ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปถึงโจทก์ที่ 2 ด้วยว่าโจทก์ที่ 2 ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตหรือไม่
พิพากษากลับว่า จำเลยมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 40567 และ 40568 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร เนื้อที่ 19 ตารางวา และ 12 ตารางวา ตามลำดับโดยการครอบครอง ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องและฟ้องแย้งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share