คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่เกิดเหตุเป็นร้านค้าและเป็นที่ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ จึงเป็นสาธารณสถานตามมาตรา 1(3) เมื่อจำเลยทะเลาะกันอื้ออึงในสาธารณสถานจึงเป็นผิดมาตรา 372 ข้อที่ว่าที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานหรือไม่ หาใช่ประเด็นแห่งคดีไม่
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 อีกฝ่ายหนึ่ง ทะเลาะกันอื้ออึงในสาธารณสถาน ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพียงแต่เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ถึงที่ 8 เป็นจำเลยต่อศาลอาญา (ฐานบุกรุกทำร้ายร่างกาย) ในคดีเกี่ยวพันกันนี้โดยในชั้นนี้ศาลอาญาเพียงแต่รับฟ้องไว้พิจารณา ย่อมไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกผู้ว่าคดี ฯ ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจชำระในความผิด (ฐานทะเลาะกันอื้ออึงในศาธารณสถาน) ซึ่งมีอัตราโทษต่ำกว่าและมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา 24 วรรค 2 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งศาลแขวง ฯ มิได้ตกลงกับศาลอาญาสั่งให้ไปฟ้องยังศาลอาญาตามมาตรา 25 ส่วนมาตรา 24 วรรค 3 บัญญัติถึงความผิดอันเกี่ยวพันกัน มีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๘ อีกฝ่ายหนึ่งทะเลาะกันอื้ออึงในร้านขายผ้าของจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ตอนหน้าร้านซึ่งเป็นสาธารณสถาน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๗๒
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๗ ผิดมาตรา ๓๗๒ ปรับคนละ ๓๐๐ บาท ลดโทษให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๗ คนละกึ่ง คงปรับคนละ ๑๕๐ บาท จำเลยนอกนั้นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒อุทธรณ์ว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ได้ฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๗ และบุคคลอื่นเป็นจำเลยต่อศาลอาญาว่า สมคบกันบุกรุกทำร้ายร่างกายและสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาก่อนผู้ว่าคดียื่นฟ้องคดีนี้ ซึ่งคดีทั้ง ๒ เป็นมูลคดีเดียวกัน เกิดในวาระเดียวกัน กรรมเดียวกัน สถานที่เดียวกัน ศาลแขวงพระนครเหนือจึงไม่ชอบที่จะรับฟ้อง คำพิพากษาคดีนี้จึงไม่มีผลบังคับแก่จำเลย และเหตุเกิดในเคหสถานไม่ใช่สาธารณสถาน ไม่เป็นผิดมาตรา ๓๗๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฎีกาศาลชั้นต้นรับเฉพาะข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘,๒๒๒ คือ ที่เกิดเหตุเป็นร้านค้า และเป็นที่ซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ ดังนี้ เห็นว่าที่เกิดเหตุจึงเป็นสาธารณสถาน ตามมาตรา ๑(๓)แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำเลยทะเลาะกันอื้ออึงในสาธารณสถานจึงเป็นผิดมาตรา ๓๗๒ ข้อที่ว่าที่เกิดเหตุเป็นเคหสถานหรือไม่ หาใช่ประเด็นแห่งคดีไม่
และเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เพียงแต่ฟ้องจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๘ เป็นจำเลยต่อศาลอาญาในคดีเกี่ยวพันกันนี้ โดยในชั้นนี้ศาลอาญาเพียงแต่รับฟ้องไว้พิจารณา ย่อมไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ถูกผู้ว่าคดี ฯ ฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลแขวงพระนครเหนือ และเห็นว่ามิใช่เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๔ วรรค ๒ ทั้งปรากฏว่าศาลแขวง ฯ มิได้ตกลงกับศาลอาญาสั่งให้ไปฟ้องศาลอาญาตามมาตรา ๒๕ ฉะนั้น ศาลแขวงฯ จึงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ส่วนข้อความในวรรค ๓ แห่งมาตรา ๒๔ ได้บัญญัติถึงความผิดอันเกี่ยวพันกัน มีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย

Share