คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลย 4 คนถูกลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 27 ปรับร่วมกันเป็นเงิน 66,789.80 บาท ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปีก็ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลย 4 คน ก็ต้องแบ่งการกักขังได้คนละ 6 เดือน ตามนัยฎีกาที่ 535/2493 ที่ศาลชั้นต้นให้กักขังคนละ 1 ปี เป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

คดี 5 สำนวนนี้ โจทก์แยกฟ้องดังนี้

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน หาว่าร่วมกันนำและพาหูปลาฉลามแห้ง 25 กระสอบ กะเพาะปลากดแห้ง 1 กระสอบ กะเพาะปลากุเลาแห้ง 1 กระสอบ รวมราคา 6,965 บาท เป็นของที่ยังไม่ได้เสียภาษีศุลกากรไม่ได้ผ่านด่านศุลกากรโดยถูกต้องเข้ามาในราชอาณาจักรไทย เงินค่าภาษีอากร 9,732.45 บาท เหตุเกิดตำบลบางวันกิ่งอำเภอเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16, 17 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 10 กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480 ริบของกลาง และนับโทษต่อ

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ

สำนวนที่ 2, 3, 4, 5 โจทก์ฟ้องจำเลยแต่ละคนว่า เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติพม่า สัญชาติพม่า เข้ามาในราชอาณาจักรไทย เข้ามาอยู่ที่ตำบลบางวัน กิ่งอำเภอเกาะคอเขา จังหวัดพังงา โดยทางทะเล มิใช่ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมืองโดยไม่รับอนุญาต ไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง ไม่มีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวมิได้ผ่านการตรวจของเจ้าพนักงาน และมิได้รายงานตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 15, 21, 44, 58, 60 และนับโทษต่อ

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดี 5 สำนวนรวมกัน พิพากษาว่าจำเลยทุกคนผิดตามบทกฎหมายที่โจทก์ฟ้องทั้ง 5 สำนวน ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490มาตรา 3 กระทงหนัก จำคุกคนละ 1 ปี ปรับ 4 เท่าของราคาของรวมค่าอากร ปรับรวมกัน 66,789.80 บาท จำเลย 4 คน จึงปรับคนละ16,697.45 บาท ถ้าจะกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังคนละ 1 ปี ริบของกลาง

จำเลยทุกคนทั้ง 5 สำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกาทั้ง 5 สำนวน

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้ง 5สำนวนมีความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามา แต่เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นให้กักขังจำเลยแทนค่าปรับคนละ 1 ปี นั้นไม่ถูกต้อง เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป ศาลจะสั่งกักขังแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเกิน 1ปี แต่ไม่เกิน2 ปีก็ได้ คดีนี้จำเลยถูกปรับรวมกันตามพระราชบัญญัติศุลกากรเป็นเงิน 66,789.80 บาท จึงกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้ไม่เกิน2 ปี เมื่อจำเลย 4 คน ก็ต้องแบ่งการกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้คนละ 6 เดือน ตามนัยฎีกาที่ 535/2493 การกักขังแทนค่าปรับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เป็นผลร้ายแก่จำเลย ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้ให้ถูกต้อง พิพากษากลับให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น เว้นแต่ถ้าจะกักขังจำเลยแทนค่าปรับ ให้กักขังจำเลยไว้คนละ 6 เดือน

Share