คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1145/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่านิติกรรมขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโมฆะ โดยอ้างว่านิติกรรมการขายฝากและสัญญาเช่าเป็นิติกรรมอำพราง ให้จำเลยรับเงินไถ่ถอนและแก้ทะเบียนที่ดินคืนเป็นของโจทก์ จำเลยให้การว่า นิติกรรมขายฝากและสัญญาเช่าเป็นนิติกรรมแท้จริงไม่อำพราง สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว ขอให้ขับไล่นั้น เป็นกรณีเกี่ยวกับฟ้องเดิมซึ่งจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้
เมื่อนิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันตามเจตาที่แสดงออกมานั้นย่อมตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมอันหลังที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรกต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ ซึ่งจะสมบูรณ์หรือไม่เพียงใด ก็แล้วแต่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันหลังนี้
เจตนาลวงที่แสดงออกมาด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่ว่านิติกรรมอีกอันหนึ่งถูกปกปิดไว้หรือไม่ก็ตาม เหตุนี้ การนำสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นการนำสืบทำลายข้อความในเอกสารว่า สัญญาที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรค 2 ซึ่งไม่ห้ามในการที่โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลตามฟ้องโจทก์นั้น (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 295/2508)(ประชุมใหญ่)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของร้อยตำรวจตรีมณี อาภารัตน์ ตามคำสั่งศาล ร้อยตำรวจตรีมณีจำนองที่ดินพร้อมด้วยสิ่งปลูกสร้างแก่จำเลยเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท แต่จำเลยให้ทำเป็นสัญญาขายฝากอำพรางการจำนองไว้ และให้ลงจำนวนเงินในสัญญาขายฝาก ๓๙๐,๐๐๐ บาท ต่อมาร้อยตำรวจตรีมณีกู้เงินจำเลยอีก ๕๐,๐๐๐ บาท จำเลยให้ร้อยตำรวจตรีมณีทำสัญญาเช่าทรัพย์ที่จำนอง โจทก์ติดต่อขอไถ่จำนอง จำเลยจะคิดเอาเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่ยอม จึงขอให้ศาลบังคับแสดงว่านิติกรรมขายฝากเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท เป็นการไถ่ถอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยให้การปฏิเสธ และฟ้องแย้งให้ขับไล่โจทก์และบริวาร โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่าศาลอาจทำการชี้ขาดเบื้องต้นให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง จึงงดการสืบพยาน แล้วพิพากษาว่า จำเลยฟ้องแย้งได้เพราะคดีเกี่ยวข้องกัน โจทก์จะนำสืบตามฟ้องว่าเป็นการจำนองเป็นการแก้ไขการขายฝากซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ ศาลจึงฟังข้อเท็จจริงว่า ร้อยตำรวจตรีมณีทำสัญญาขายฝากจดทะเบียนจนพ้นกำหนดไถ่คืนแล้ว พิพากษาให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้แสดงว่านิติกรรมขายฝากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นโมฆะ โดยอ้างว่านิติกรรมการขายฝากและสัญญาเช่าเป็นนิติกรรมอำพราง ให้จำเลยรับเงินไถ่ถอนและแก้ทะเบียนที่ดินคืนเป็นของโจทก์ จำเลยให้การว่า นิติกรรมขายฝากและสัญญาเช่าเป็นนิติกรรมแท้จริงไม่อำพราง สัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว ขอให้ขับไล่ เห็นได้ชัดว่เป็นที่ดินที่ขายฝากและเช่าตามฟ้องเดิมซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกคืนนั่นเอง จึงเป็นกรณีเกี่ยวกับฟ้องเดิมซึ่งจำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้
ส่วนข้อที่ว่า โจทก์จะนำสืบได้หรือไม่ว่านิติกรรมขายฝากและเช่าเป็นโมฆะเพราะเป็นนิติกรรมอำพรางนั้น เห็นว่า เมื่อนิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวง ด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณีที่จะไม่ผูกพันกันตามเจตนาที่แสดงออกมานั้น นิติกรรมอันแรกที่ปรากฏออกมานั้นย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๘ วรรคแรก ส่วนนิติกรรมอันหลังที่ถูกอำพรางไว้โดยนิติกรรมอันแรกนั้น ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันที่ถูกอำพรางไว้ ตามมาตรา ๑๑๘ วรรคสอง ซึ่งจะมีผลสมบูรณ์หรือไม่เพียงใด ก็แล้วแต่บทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยนิติกรรมอันหลังนี้ แต่ความสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ของนิติกรรมอันหลังนี้ก็ไม่ทำให้นิติกรรมอันแรกที่เป็นโมฆะไปตามมาตรา ๑๑๘ วรรคแรกนั้น กลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้แต่ประการใด เจตนาลวงที่แสดงออกมาด้วยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่ว่าจะมีนิติกรรมอีกอันหนึ่งถูกปกปิดไว้หรือไม่ก็ตาม เหตุนี้การนำสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นการนำสืบทำลายข้อความในเอกสารว่า สัญญาที่ระบุในเอกสารนั้นไม่สมบูรณ์ตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ วรรคสอง ซึ่งไม่ห้ามการที่โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีมาโดยไม่สืบพยานของคู่ความนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาในประเด็นข้อนี้ใหม่ตามนัยที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว

Share