แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบัน การเงินด้วยการรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่กำหนดใน พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 การที่จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงอันเป็นทรัพย์จำนองของโจทก์ตามบทบัญญัติมาตรา 76 ที่บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ และมาตรา 82 บัญญัติว่า การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้ จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลงตามมาตรา 76 อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่ พ.ร.ก. นี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ หากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขายทอดตลาด ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน หรือในกรณีศาลมีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นเพียงการให้อำนาจจำเลยที่ 1 ใช้สิทธิในฐานะคู่ความหรือดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ด้วย ไม่ใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 53 แห่ง พ.ร.ก. นี้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้มากกว่าการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. จึงหาใช่บทบังคับว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. เท่านั้น จำเลยที่ 1 มีอำนาจขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีอื่นตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 ตามมาตรา 74 และ 76
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 7243 และ 3242 ตำบลอุทัย (สามง่าม) อำเภออุทัย (อุทัยใหญ่) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยทั้งสอง และให้ปฏิบัติตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา กระทรวงการคลังยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ก่อนโจทก์ฎีกา ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้โจทก์ล้มละลายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2554 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าดำเนินคดีแทนโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีเจตนารมณ์ตามเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดว่าเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรงในช่วงระยะเวลาดังกล่าวที่ลูกหนี้ของสถาบันการเงินไม่สามารถชำระหนี้สินเชื่อและกลายเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่สถาบันการเงินเป็นจำนวนมาก หากปล่อยเวลาให้เนิ่นช้าต่อไป ฐานะของสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องจะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงและกระทบต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่อไปได้ จึงจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์แห่งชาติขึ้นให้เป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อทำหน้าที่แก้ไขปัญหาการค้างชำระหนี้ของลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐและเอกชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วด้วยการรับโอนสินทรัพย์ที่จัดเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อนำมาบริหารจัดการตามวิธีการที่พระราชกำหนดฉบับนี้กำหนดไว้ อันจะเป็นการสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินโดยรวมเพื่อรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามพระราชกำหนดดังกล่าวหมวด 4 มาตรา 53 บัญญัติให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ หรือจำหน่ายหนี้สูญ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันตามที่เห็นสมควร ตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ มาตรา 76 บัญญัติว่า ในการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ให้ บสท. ดำเนินการโดยวิธีการขายทอดตลาด แต่ถ้า บสท. เห็นว่าการจำหน่ายโดยวิธีอื่นจะเป็นประโยชน์กับ บสท. และลูกหนี้มากกว่า ก็ให้จำหน่ายโดยวิธีอื่นได้ หรือจะรับโอนทรัพย์สินนั้นไว้ในราคาไม่น้อยกว่าราคาที่จะพึงได้รับจากการขายทอดตลาดแทนการจำหน่ายก็ได้ และมาตรา 82 บัญญัติว่า การเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 จะกระทำมิได้ ทั้งนี้เพราะมาตรา 95 บัญญัติให้ยุบเลิก บสท. เมื่อสิ้นปีที่สิบ และชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่ช้ากว่า ปีที่สิบสอง นับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ และให้พระราชกำหนดนี้เป็นอันยกเลิกเมื่อครบสิบสองปีนับแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จำเลยที่ 1 ขายทอดตลาดที่ดินทั้งสองแปลง ตามบทบัญญัติมาตรา 76 อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามที่พระราชกำหนดฉบับนี้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ผู้เสียหายจากการจำหน่ายทรัพย์สินอาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายทรัพย์สินได้ตามมาตรา 79 หรือหากโจทก์ได้รับความเสียหายจากการขายทอดตลาด ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้ โจทก์จึงไม่มี อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นแต่ไม่ได้ยกขึ้นกล่าวในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจขายทอดตลาดตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 และมาตรา 76 เนื่องจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เดิมได้ฟ้องโจทก์ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ต่อมาบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ได้รับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทน เมื่อจำเลยที่ 1 รับโอนสิทธิเรียกร้องและเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์ต่อมาจากบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งจำหน่ายคดีตามมาตรา 30 วรรคหก แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวจนศาลมีคำพิพากษา ถือว่าจำเลยที่ 1 เลือกที่จะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน ชอบที่จะดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น เห็นว่า ปัญหานี้แม้โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ยกขึ้นอ้างได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง และเห็นว่า มาตรา 41 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทน หรือในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาบังคับคดีแล้ว ให้จำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น เป็นเพียงการให้อำนาจจำเลยที่ 1 ที่จะใช้สิทธิในฐานะคู่ความหรือดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ด้วย ไม่ใช่เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 53 แห่งพระราชกำหนดนี้ หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 และโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้มากกว่าการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงหาใช่บทบังคับว่าเมื่อจำเลยที่ 1 เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 1 ต้องดำเนินการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น อันไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ในการจัดตั้งจำเลยที่ 1 ให้เป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็วตามพระราชกำหนดนี้ จำเลยที่ 1 จึงยังคงมีอำนาจขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินโดยวิธีอื่นตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 และมาตรา 76 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ