แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งทำไว้กับพนักงานเจ้าหน้าที่ (อัยการจังหวัด) ซึ่งมีอำนาจทำได้อัยการจังหวัดผู้นั้นย่อมเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ปรับนายประกันฐานผิดสัญญาได้อ้างฎีกาที่ 964/2487
ในฟ้องกล่าววันนัดส่งตัวผู้ต้องหาผิดพลาด แต่ก็มีวันนัดส่งตัวเป็นคราวๆ ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ทั้งโจทก์ก็ยังระบุว่าจำเลยผิดนัดต่อมาอีกหลายครั้งดังนี้ย่อมทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว จึงไม่ใช่ข้อสำคัญอันจะยกฟ้องได้
ย่อยาว
จำเลยทำสัญญากับโจทก์ในหน้าที่ราชการรับประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญา บัดนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาประกันไม่ส่งตัวผู้ต้องหาขอให้จำเลยใช้เงินค่าปรับตามสัญญาประกัน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงินตามสัญญา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาต่อมาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่นิติบุคคลและโจทก์บรรยายฟ้องเรื่องวันที่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาผิดกับสัญญาประกัน
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่นิติบุคคล ข้อนี้กรณีเนื่องจากสัญญาที่จำเลยได้กระทำไว้ต่อโจทก์ผู้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ทำสัญญาประกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106, 113 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องได้ เทียบฎีกาที่ 964/2487 ระหว่างพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรจังหวัดพระตะบองโจทก์ นายพาม พรันตริน จำเลย
อีกข้อหนึ่งจำเลยเถียงว่าคำฟ้องมุ่งหมายถือว่าจำเลยผิดสัญญาส่งตัวในวันที่ 1 เมษายน แท้จริงวันนั้นไม่มีกำหนดส่งตัวข้อนี้เห็นว่าโจทก์ระบุวันที่ 1 เมษายน แทนวันที่ 4 เมษายน โดยความพลั้งเผลอ เพราะได้มีระบุวันนัดส่งตัวเป็นคราว ๆ ตามสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง ทำให้จำเลยเข้าใจได้ดีอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม โจทก์ก็ระบุด้วยว่าจำเลยผิดนัดต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง การกล่าววันผิดในนัดแรกจึงไม่ใช่ข้อสำคัญจะยกฟ้องได้
จึงพิพากษายืน