แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 บัญญัติไว้เพียงว่าให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน มิได้บัญญัติรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมเช่นที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ทั้งสองนี้มีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่น ดังนั้น การที่จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 30 ก็ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฯ มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ ซึ่งวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยฯ
เมื่อกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินที่ใช้ปลูกบ้านซึ่งมีการถมดินไว้แล้วจึงไม่ต้องกำหนดเงินค่าถมดินอีก
การเวนคืนเพื่อใช้เดินสายส่งไฟฟ้า กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในการใช้ที่ดินที่เดินสายส่งไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้น การกำหนดเงินค่าทดแทนในส่วนที่ใช้ตั้งเสาไฟฟ้าให้ร้อยละ 100 ที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายให้ร้อยละ 70 และที่นาจ่ายให้ร้อยละ 50 จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินห้าแปลงถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านรวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 56.60 ตารางวา จำเลยได้กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้ตารางวาละ 2,700 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำ ไม่ได้คำนึงถึงราคาซื้อขายที่ดินตามท้องตลาดซึ่งมีราคาตารางวาละ 7,000 บาท ถึง 8,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าทดแทนเพิ่มจำนวน 3,029,913.40 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 2,823,380 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า การเดินสายส่งไฟฟ้าพาดผ่านเหนือที่ดินมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าให้แก่จำเลยแต่อย่างใด ที่ดินยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ จำเลยจึงกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้ในอัตราร้อยละ 90 ของราคาที่กำหนดที่ดินของโจทก์เป็นที่บ้านซึ่งไม่ได้อยู่ในย่านการค้าหรือชุมชนจึงมีอัตราเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตารางวาละ 2,700 บาท จำเลยยังจ่ายเงินค่าถมดินให้ 301,000 บาท และเงินค่าทดแทนต้นไม้ 750 บาท นอกจากนี้ยังได้จ่ายเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือเนื้อที่ 93.40 ตารางวา ให้อีกในอัตราตารางวาละ 2,700 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,772,820 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 11138, 11137, 11136, 11133 และ 3223 ตำบลไทรน้อย อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่ 1 งาน 30 ตารางวา, 1 งาน 50 ตารางวา, 1 งาน 50 ตารางวา, 1 งาน 50 ตารางวา และ 1 งาน 65 ตารางวา ตามลำดับ โดยมีอาณาเขตติดต่อกัน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 ได้มีการประกาศเรื่องกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย ในราชกิจจานุเบกษา และวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ได้มีการประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากจุดแยกสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย (บริเวณอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยวังน้อยในราชกิจจานุเบกษา ปรากฏว่าที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ดังกล่าวถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่านรวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 56.60 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดนนทบุรีกำหนดราคาที่ดินของโจทก์ตารางวาละ 3,000 บาท เนื่องจากมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าและที่ดินของโจทก์มีสภาพเป็นที่บ้านซึ่งจำเลยกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินร้อยละ 90 ของราคาที่ดินข้างต้น โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตารางวาละ 2,700 บาท เป็นเงินทั้งสิ้น 1,772,820 บาท ค่าถมดิน 301,000 บาท และเงินค่าทดแทนต้นไม้ 750 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 2,074,570 บาท โจทก์ไม่พอใจและอุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยยืนยันคำสั่งเดิมและนำเงินค่าทดแทนดังกล่าวไปฝากธนาคารในนามของโจทก์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2542 และโจทก์ได้รับเงินดังกล่าวไปแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นจากที่จำเลยกำหนดให้หรือไม่เพียงใด โจทก์ฎีกาโดยสรุปว่าที่ดินของโจทก์มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดก่อนที่จำเลยจะประกาศกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าตารางวาละไม่ต่ำกว่า 6,000 บาท เพราะที่ดินโฉนดเลขที่ 62028 เนื้อที่ 100 ตารางวา ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับที่ดินของโจทก์มีการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างนายเสนอ มนนามอญ ผู้ขายและนางนิภา ทองถาวร ผู้ซื้อในราคา 600,000 บาท หรือตารางวาละ 6,000 บาท แม้การลงบันทึกวันเดือนปีในการจดทะเบียนของเจ้าพนักงานที่ดินจะผิดพลาดเพราะในสารบัญจดทะเบียนหลังโฉนดที่ดินดังกล่าวระบุว่าจดทะเบียนซื้อขายกันในวันที่ 17 มกราคม 2540 หลังวันที่จำเลยได้ประกาศกำหนดเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเข้ามาในเขตท้องที่อำเภอไทรน้อยก็ตามแต่ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลย ทั้งนายเสนอและนางนิภาไม่มีส่วนได้เสียจากการประกาศเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยแต่อย่างใด เหตุดังกล่าวไม่ทำให้ราคาซื้อขายกันตามปกติของที่ดินแปลงนี้ในท้องตลาดเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3222 และ 11139 ซึ่งอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งห้าแปลงกับนางคนึงนิจ เตโชฬาร เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2538 ก่อนวันเวลาที่จำเลยประกาศเขตเดินสายส่งไฟฟ้าในราคาตารางวาละ 6,000 บาท และต่อมาได้ซื้อขายกันจริงในราคาดังกล่าว นอกจากนี้นายปราโมทย์ สมบุญยิ่ง ซึ่งมีที่ดินตั้งอยู่ใกล้ที่ดินของโจทก์และอยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าของจำเลยเช่นเดียวกับโจทก์ได้ฟ้องจำเลยเรียกเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ซึ่งศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาให้จำเลยนำราคาที่ดินตารางวาละ 6,000 บาท เป็นฐานกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่นายปราโมทย์ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีคำพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรี ทั้งคดีถึงที่สุดโดยจำเลยไม่ได้ฎีกา และใบสำคัญแสดงว่าคำพิพากษาคดีถึงที่สุด ซึ่งเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องที่โจทก์แนบท้ายฎีกา เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้เพียงว่าให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินมิได้บัญญัติรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะให้นำมาใช้คำนึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมเช่นที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติทั้งสองนี้มีเจตนารมณ์ที่จะจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินและทรัพย์สินอื่น ดังนั้น การที่จะพิจารณากำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ก็ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) กรณีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (4) คือ วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน อันเป็นวันเริ่มต้นของการกำหนดแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนมีผลใช้บังคับ เมื่อเทียบกันกับกรณีในคดีนี้วันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือวันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 ซึ่งจำเลยได้ประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยราชบุรี 3 ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และประกาศเรื่อง กำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ จากจุดแยกสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อย (บริเวณอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยวังน้อย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ดังนั้น วันที่จะพิจารณาถึงราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของที่ดินของโจทก์ซึ่งอยู่ในแนวเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าสองสายนี้คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 และวันที่ 1 ธันวาคม 2537 ตามลำดับ แต่ตามที่จำเลยนำสืบได้ความว่าจำเลยเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินจังหวัดนนทบุรีถือราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินของสำนักงานที่ดินจังหวัดนนทบุรี ปี 2539 ถึงปี 2542 แล้วปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 มาเป็นฐานกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์เพียงประการเดียว ซึ่งราคาทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนั้นแม้จำเลยจะปรับเพิ่มให้อีกร้อยละ 50 ก็ยังไม่แน่ว่าเป็นราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดในปลายปี 2537 และที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3223 มาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2537 ในราคาตารางวาละ 2,000 บาทนั้น โจทก์เบิกความว่าโจทก์ซื้อที่ดินทั้งห้าแปลงมาเมื่อปี 2537 ในราคาตารางวาละ 3,000 บาท แล้วได้ทำถนนกว้าง 8 เมตร และได้ติดตั้งไฟฟ้า น้ำประปาเข้าไปยังที่ดินดังกล่าวซึ่งตามภาพถ่ายที่จำเลยอ้างส่งต่อศาลก็มีถนนหินคลุกและเสาไฟฟ้าผ่านเข้าสู่ที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ ทั้งปรากฏจากการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินฯ ที่ฝ่ายจำเลยแต่งตั้งว่า เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2536 ได้มีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 5301 เนื้อที่ 150 ตารางวา ซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันกับที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ในราคาตารางวาละ 3,680 บาท จึงยังไม่แน่ว่าที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ตามที่เป็นอยู่ในปลายปี 2537 มีราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดไม่เกินกว่าตารางวาละ 3,000 บาท ตามที่จำเลยใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ ส่วนที่โจทก์นำสืบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 62028 ที่นายเสนอขายให้นางนิภาตารางวาละ 6,000 บาท นั้น ไม่ได้อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าและมีการซื้อขายกันภายหลังจากมีการประกาศเขตเดินสายส่งไฟฟ้าแล้วผู้ซื้อและผู้ขายน่าจะทราบว่าที่ดินแปลงนี้ไม่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าแล้ว ราคาที่ซื้อขายกันจึงย่อมจะราคาสูงกว่าที่ดินที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเป็นธรรมดา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3222 และ 11139 ที่โจทก์อ้างว่าขายให้นางคนึงนิจราคาตารางวาละ 6,000 บาทนั้น โจทก์คงมีสำเนาหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายหรือสัญญาวางมัดจำมาแสดงประกอบสำเนาเช็ค 5 ฉบับ โดยโจทก์ไม่ได้อ้างส่งหนังสือสัญญาขายที่ดินทั้งสองแปลงที่นำไปจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นพยาน พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้น้อย ซึ่งในข้อนี้ได้ความตามรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินอำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ว่าจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3222 และ 11139 จดทะเบียนซื้อขายในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ในราคาตารางวาละ 4,109 บาท เท่านั้น ส่วนคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรีคดีหมายเลขแดงที่ 348/2546 ระหว่าง นางคนึงนิจ เตโชฬาร โจทก์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำเลย และคำพิพากษาศาลจังหวัดนนทบุรีคดีหมายเลขแดงที่ 2606/2544 ระหว่างนายปราโมทย์ สมบุญยิ่ง โจทก์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำเลย ที่โจทก์แนบท้ายฎีกา ซึ่งศาลวินิจฉัยให้กำหนดราคาที่ดินตารางวาละ 6,000 บาท มาเป็นฐานคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่คนทั้งสองนั้นไม่เป็นข้อผูกมัดให้ศาลฎีกาจำต้องถือตามแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาสภาพที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ประกอบพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว เห็นควรใช้อัตราที่ดินตารางวาละ 4,000 บาท มาเป็นฐานในการคำนวณกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจกท์ แต่เนื่องจากมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินส่วนที่ถูกแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้า ศาลฎีกาจึงเห็นด้วยกับจำเลยที่กำหนดอัตราถือจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินตามประเภทที่ดินว่า ที่ดินที่เป็นที่ตั้งเสาไฟฟ้าจ่ายให้ร้อยละ 100 ที่บ้านจ่ายให้ร้อยละ 90 ที่สวนจ่ายให้ร้อยละ 70 ที่นาจ่ายให้ร้อยละ 50 ขณะที่ฝ่ายจำเลยกำหนดประเภทที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ว่าเป็นที่บ้านนั้นที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงเดิมและได้มีการถมดินแล้วจึงถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทที่บ้านตามคำนิยาม หากไม่มีการแบ่งแยกที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์จากที่ดินแปลงเดิมและถมดินแล้ว สภาพที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ยังคงเป็นที่นา ดังนั้นเมื่อกำหนดให้ที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์เป็นที่บ้านจากสภาพที่ดินทั้งห้าแปลงของโจทก์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้นซึ่งมีการถมที่ดินไว้แล้ว โจทก์ก็ไม่ควรได้รับเงินค่าถมดินแยกต่างหากอีก 301,000 บาท จึงต้องนำเอาเงินจำนวนนี้รวมกับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินประเภทที่บ้านที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ไปแล้วจำนวน 1,772,820 บาท ซึ่งรวมกันแล้วเป็นเงินจำนวน 2,073,820 บาท หักออกจากเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินประเภทที่บ้านที่ศาลฎีกาเพิ่มให้เป็นร้อยละ 90 ของตารางวาละ 4,000 บาท คือตารางวาละ 3,600 บาท เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 56.60 ตารางวา เป็นเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินประเภทที่บ้านจำนวน 2,363,760 บาท เมื่อหักกันแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 289,940 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 289,940 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินในจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ