คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15641/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียน และบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้งเมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์ฟ้องได้ แม้ต่อมาศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลล้มละลายกลางตรวจสำนวนแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน จึงสิ้นสภาพบุคคลตั้งแต่นั้น จึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำหน่ายคดีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำแถลงโต้แย้งคำสั่ง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นายทะเบียนจะได้ขีดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากทะเบียนแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เสร็จสิ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 และ 1251 ดังนั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1236 สถานะนิติบุคคลของจำเลยที่ 1และที่ 2 ยังไม่สิ้นสุดลง ศาลล้มละลายกลางต้องรับฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1273/3 และ 1273/4 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2551 มาตรา 19 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บัญญัติให้บริษัทนั้นสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกเสียจากทะเบียนและบริษัทที่ถูกขีดชื่อจะกลับคืนสู่ทะเบียนมีฐานะนิติบุคคลอีกครั้ง เมื่อศาลสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียน เมื่อปรากฏว่าในวันที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นคดีล้มละลายนี้ (วันที่ 15 สิงหาคม 2554) ศาลจังหวัดนครสวรรค์ยังมิได้มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียน ขณะฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยจึงไม่มีฐานะนิติบุคคลที่โจทก์จะฟ้องได้ แม้ต่อมาภายหลังศาลจังหวัดนครสวรรค์มีคำสั่งให้จดชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับคืนเข้าสู่ทะเบียนเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2554 และตามมาตรา 1273/4 กำหนดให้ถือว่าบริษัทนั้นยังคงอยู่ตลอดมาเสมือนมิได้มีการขีดชื่อออกเลย ก็เป็นเพียงการรับรองสภาพนิติบุคคลภายหลังศาลมีคำสั่งเท่านั้น หาทำให้โจทก์ซึ่งไม่มีอำนาจฟ้องมาตั้งแต่ต้นกลับกลายเป็นมีอำนาจฟ้องไปไม่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความนั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share