คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3281/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองจะถูกจับไม่นาน จำเลยทั้งสองเดินเข้าไปนั่งที่โซฟาในห้องอาหารของโรงแรมด้วยกันโดยจำเลยที่ 2 ถือถุงกระดาษเข้าไปด้วย ต่อมาขณะที่จำเลยทั้งสองนั่งที่โซฟาในห้องอาหารอยู่นั้น มีสายลับ 2 คนเดินเข้ามานั่งร่วมโต๊ะเดียวกันกับจำเลย แล้วจำเลยที่ 1เป็นผู้หยิบถุงกระดาษที่จำเลยที่ 2 ถือมาเพื่อจะส่งมอบให้แก่สายลับ สายลับก็ให้สัญญาณเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยทั้งสองตามแผนการจับกุมที่กำหนดกันไว้ก่อนแล้วเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเข้าจับจำเลยทั้งสองกับยึดได้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางซึ่งบรรจุมาในถุงกระดาษดังกล่าวทันที ดังนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ของกลางให้แก่สายลับ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเสียก่อนการซื้อขายวัตถุออกฤทธิ์ของกลางจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์เป็นการกระทำยังอยู่ในขั้นตอนที่จำเลยทั้งสองพยายามขายวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเท่านั้น และเมื่อวัตถุออกฤทธิ์ของกลางเป็นชนิดเดียวกันและจำนวนเดียวกัน ทั้งจำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงจำหน่ายจ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียวฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ไว้ในครอบครองเพื่อขายเพียงกรรมเดียวเท่านั้นมิใช่จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 มาตรา 4, 6, 7, 11,13 ทวิ, 62, 89, 106, 106 ทวิ, 116 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิริบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุขและคืนอาวุธปืนของกลางให้แก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้รับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง, 89 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง อีกบทหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 20 ปี และลงโทษจำเลยที่ 1ฐานพาอาวุธติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 2,000 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานพาอาวุธปืนฯ ในชั้นสอบสวนและจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน1,000 บาท และจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี รวมลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 20 ปี และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ของกลางให้แก่กระทรวงสาธารณสุข และคืนอาวุธปืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุพันตำรวจตรีบุญทวี โตรักษา ร้อยตำรวจเอกประเทือง ศรีละมนตรีสิบตำรวจตรีเกรียงศักดิ์ รัตนกุล กับพวก ร่วมกันจับจำเลยทั้งสองขณะอยู่ด้วยกันที่ห้องอาหารของโรงแรมสยามธาราซึ่งเป็นที่เกิดเหตุและยึดได้เมทแอมเฟตามีนกับอีเฟดรีนผสมกันเป็นเม็ดอันเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 จำนวน 6,800 เม็ด รวมหนัก 476.2 กรัมจากที่เกิดเหตุเป็นของกลาง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 มีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่เห็นว่า ก่อนเวลาที่จำเลยทั้งสองจะถูกจับไม่นาน จำเลยทั้งสองเดินเข้าไปนั่งที่โซฟาในห้องอาหารของโรงแรมสยามธาราด้วยกันโดยจำเลยที่ 2 ถือถุงกระดาษเข้าไปด้วย ต่อมาขณะที่จำเลยทั้งสองนั่งที่โซฟาในห้องอาหารอยู่นั้น มีสายลับ 2 คน เดินเข้ามานั่งร่วมโต๊ะเดียวกันกับจำเลยทั้งสองด้วย แล้วจำเลยที่ 1เป็นผู้หยิบถุงกระดาษที่จำเลยที่ 2 ถือมาเพื่อจะส่งมอบให้แก่สายลับ สายลับก็ให้สัญญาณเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยทั้งสองตามแผนการจับกุมที่กำหนดกันไว้ก่อนแล้ว และเจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวเข้าจับจำเลยทั้งสองกับยึดได้วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางซึ่งบรรจุมาในถุงกระดาษดังกล่าวทันที ดังนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้ส่งมอบวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางให้แก่สายลับ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางเสียก่อน การซื้อขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางระหว่างจำเลยทั้งสองกับสายลับจึงยังไม่สำเร็จบริบูรณ์ เป็นการกระทำยังอยู่ในขั้นตอนที่จำเลยทั้งสองพยายามขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2ของกลางเท่านั้น เมื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ของกลางเป็นชนิดเดียวกันและจำนวนเดียวกัน ทั้งจำเลยทั้งสองมีไว้ในครอบครองเพื่อขายและพยายามขายในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกันซึ่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518มาตรา 4 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “ขาย” ให้หมายความรวมถึงจำหน่าย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ส่งมอบ หรือมีไว้เพื่อขาย ดังนี้การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นความผิดกรรมเดียว คือมีความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายและขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 โดยไม่ได้รับอนุญาตมานั้นจึงไม่ถูกต้องในข้อหาหลัง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทพ.ศ. 2518 มาตรา 13 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 89ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 เพียงกระทงเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share