คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การโอนที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 115 นั้น ต้องเป็นการโอนภายในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และภายหลังนั้น ให้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอนและการโอนนั้นทำให้เจ้าหนี้คนอื่น ๆ เสียเปรียบ ที่ว่าต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอนนั้นหมายความว่า เจ้าหนี้กับลูกหนี้นั้นมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วอันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนีได้ต่อไป จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไว้ก่อนแล้ว ผู้คัดค้านจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยในส่วนที่จะเรียกให้โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่แล้วก่อนโอนตามนัยบทกฎหมายดังกล่าวจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 995,000 บาทต่อมาในระหว่างระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย จำเลยโอนขายบ้านและที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนการโอนไว้ในราคาเพียง500,000 บาท แม้ก่อนการโอนผู้คัดค้านต้องไปไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยแต่ก็ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนองและโอนขายบ้านและที่ดินพิพาทในวันเดียวกัน โดยเงินที่นำไปไถ่ถอนเป็นเงินค่าบ้านและที่ดินพิพาทที่ต้องชำระให้จำเลยนั้นเอง การที่ผู้คัดค้านทำการไถ่ถอนจำนองและรับโอนบ้านและที่ดินพิพาทไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้เดิม และเป็นการได้ทรัพย์ไปในขณะที่เจ้าหนี้รายอื่น ๆยังมิได้รับชำระหนี้ ประกอบกับได้ความว่าจำเลยมีทรัพย์สินไม่พอกับหนี้สิน การโอนทรัพย์สินของจำเลยในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115พระราชบัญญัติ ญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 มีความมุ่งหมายถึงการโอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆ ของลูกหนี้ ซึ่งได้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น โดยหาได้คำนึงถึงเหตุอันสมควรความจำเป็นหรือการถูกบังคับตามสัญญาไม่เมื่อตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยได้กระทำไปโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ การเพิกถอนการโอนเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ยังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน2528 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลายจำเลยที่ 1 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 117903 ตำบลหัวหมากอำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 995,000 บาท แต่จดทะเบียนการโอนไว้เพียง500,000 บาท และต่อมาผู้คัดค้านได้นำไปจำนองไว้กับธนาคารกสิกรไทยสาขาบางกะปิ การโอนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว เป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น และเป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนทรัพย์สินดังกล่าว ซึ่งจำเลยที่ 1โอนให้ผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115
นางวันทนีย์ กิติมหาคุณ ผู้คัดค้าน ยื่นคำคัดค้านว่า การโอนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เป็นการโอนตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ได้ทำกันไว้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2527 ก่อนจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องล้มละลายเกือบปี จึงมิใช่เป็นการโอนโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนใดได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ทั้งเป็นการรับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนโดยชอบขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 117903 พร้อมตึกแถวเลขที่ 2104/166 ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ระหว่างนายมงคล ตั้งเจริญ (ลูกหนี้) ผู้ขายกับนางวันทนีย์ กิติมหาคุณ(ผู้คัดค้าน) ผู้ซื้อ และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเงิน 995,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2528 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งทำกันไว้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2527 ต่อมาจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องล้มละลายเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 1 มีหนี้สินจำนวนมากแต่ไม่มีทรัพย์สินพอที่จะรวบรวมมาแบ่งชำระแก่เจ้าหนี้ได้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า ผู้ร้องจะขอให้ศาลเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ ข้อที่ผู้คัดค้านฎีกาว่าทรัพย์พิพาทคิดจำนองธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดพลู อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งผู้คัดค้านต้องไปไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยที่ 1 และการโอนก็มิใช่ราคาต่ำกว่าราคาทรัพย์ การที่จะถือว่าเป็นการได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น จึงเป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่าการโอนที่จะต้องถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115 นั้น ต้องเป็นการโอนภายในระยะเวลาสามเดือนก่อนมีการขอให้ล้มละลายและภายหลังนั้นให้แก่เจ้าหนี้คนใดคนหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอน และการโอนนั้นทำให้เจ้าหนี้คนอื่น ๆ เสียเปรียบที่ว่าต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วก่อนโอนนั้นหมายความว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้นั้นมีนิติสัมพันธ์กันมาก่อนแล้วอันเป็นการก่อสิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ต่อไป สำหรับคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม2527 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านไว้ก่อนแล้ว ผู้คัดค้านจึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่จะเรียกร้องให้โอนบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านตามสัญญาจะซื้อจะขายอยู่แล้วก่อนโอนตามนัยบทกฎหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงได้ความต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านและที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านในราคา 995,000 บาทต่อมาในวันที่ 1 เมษายน 2528 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลา 3 เดือนก่อนมีการขอให้จำเลยที่ 1 ล้มละลาย จำเลยที่ 1 ได้โอนขายบ้านและที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยจดทะเบียนการโอนไว้ในราคาเพียง500,000 บาท แม้ก่อนการโอน ผู้คัดค้านต้องไปไถ่ถอนจำนองแทนจำเลยที่ 1 แต่ก็ปรากฏว่ามีการไถ่ถอนจำนอง และโอนขายบ้านและที่ดินพิพาทในวันเดียวกัน โดยเงินที่นำไปไถ่ถอนเป็นเงินค่าบ้านและที่ดินพิพาทที่ต้องชำระให้จำเลยที่ 1 นั้นเอง การที่ผู้คัดค้านทำการไถ่ถอนจำนองและรับโอนบ้านและที่ดินพิพาทไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ทำไว้เดิม และเป็นการได้ทรัพย์ไปในขณะที่เจ้าหนี้รายอื่น ๆ ยังมิได้รับชำระหนี้ ประกอบกับได้ความว่าจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินไม่พอชำระหนี้ ดังนั้นการโอนทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ในพฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ และเมื่อการโอนทรัพย์สินได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลา 3 เดือน ก่อนมีการขอให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจทำคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115ฎีกาของผู้คัดค้านข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า การโอนทรัพย์สินของลูกหนี้อันควรจะถูกเพิกถอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 115มุ่งหมายถึงการที่ลูกหนี้เลือกที่รักมักที่ชัง กระทำการโอนทรัพย์สินไปโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบแต่ถ้าการโอนนั้นเป็นการกระทำโดยมีเหตุอันสมควรเพราะความจำเป็นแล้ว เช่น ลูกหนี้ชำระหนี้เพราะกลัวเจ้าหนี้จะดำเนินคดี โดยเฉพาะการโอนทรัพย์รายพิพาท ลูกหนี้กระทำเพราะถูกบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขาย กฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้ได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น นั้น เห็นว่าพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 115 มีความมุ่งหมายถึงการโอนทรัพย์สินหรือกระทำการใด ๆของลูกหนี้ ซึ่งได้กระทำโดยมุ่งหมายให้เจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดได้เปรียบแก่เจ้าหนี้อื่น โดยหาได้คำนึงถึงเหตุอันสมควร ความจำเป็นหรือการถูกบังคับตามสัญญาดังที่ผู้คัดค้านฎีกาไม่ เมื่อตามพฤติการณ์ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปโดยมุ่งหมายให้ผู้คัดค้านได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีอำนาจร้องขอให้ศาลเพิกถอนการโอนได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างมาในฎีกา เป็นเรื่องที่ลูกหนี้ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เพื่อให้เจ้าหนี้ถอนคำร้องทุกข์ไม่ดำเนินคดีอาญา ไม่มีพฤติการณ์ที่มุ่งหมายให้เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาได้เปรียบเจ้าหนี้อื่น ข้อเท็จจริงจึงไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้นทุกข้อ
อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนทรัพย์พิพาทเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอนก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้คัดค้านต้องรับผิดในเรื่องดอกเบี้ยตามขอ ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอน
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านชำระนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share