คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างอิงในฎีกา จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา และต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในชั้นอุทธรณ์ มิฉะนั้นจะเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ฯลฯ ผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องผู้ทำละเมิดภายใน 1 ปีนับแต่วันรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อจำเลยมิได้คัดค้านการที่โจทก์ไม่มีหนังสืออนุญาตของสามีให้โจทก์ฟ้องคดีมาแสดงในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยจะอ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีหนังสืออนุญาตดังกล่าวมาอุทธรณ์ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์มิได้ และจำเลยก็จะยกข้อบกพร่องของโจทก์เช่นนี้ขึ้นมาเป็นเหตุขอให้ยกฟ้องหาได้ไม่ นอกจากจะร้องขอให้ศาลสอบสวนและมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้บริบูรณ์เท่านั้น
ในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ซึ่งเป็นหญิงมีสามีได้ยื่นหนังสืออนุญาตของสามีโจทก์ต่อศาล ศาลรับไว้ถือว่าโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์แล้วจำเลยจะอ้างว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่ได้
กรรมการสหกรณ์ลงมติให้กระทำการนอกขอบวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ กรรมการก็ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลและมีจำเลยที่ 3, 4, 5 และ 6 เป็นกรรมการ ได้ทำละเมิดขับรถยนต์ชนโจทก์บาดเจ็บสาหัสไม่สามารถประกอบอาชีพจนตลอดชีวิตขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1, 3, 4, 5 และ 6 ร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา

จำเลยอื่น ๆ ให้การว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติงานในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3, 4, 5 และ 6 ไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และได้ปฏิบัติหน้าที่ไปในฐานะตัวแทนของสหกรณ์ ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวค่าเสียหายคิดมากเกินควร โจทก์บกพร่องเองในการรักษา โจทก์เคยได้รับค่าทำขวัญไปเป็นที่พอใจแล้วจะเรียกร้องเอาอีกไม่ได้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม คดีขาดอายุความ เฉพาะจำเลยที่ 6 ไม่ได้ประชุมลงมติร่วมกับจำเลยอื่น ๆ ในคราวนั้น

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ การเอารถของสหกรณ์ไปขนหินหารายได้เป็นการนอกขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดจำเลยที่ 3, 4 และ 5 ผู้ลงมติให้ไปกระทำการนั้นต้องรับผิดเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 6ไม่ได้ประชุมลงมติด้วย ไม่ต้องรับผิด ให้จำเลยที่ 2, 3, 4 และ 5 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 3, 4 และ 5 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จำเลยฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยมิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายให้เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องไม่ชัดแจ้งตรงไหนอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 แต่ฟ้องโจทก์ปรากฏว่าได้บรรยายเรื่องค่าเสียหายมาพอเป็นที่เข้าใจได้แล้ว ไม่เคลือบคลุม

ที่จำเลยฎีกาว่า คดีโจทก์ขาดอายุความแล้วนั้น ข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าโจทก์ไม่ทราบเรื่องการลงมติ จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์รู้เรื่องนี้เมื่อใด คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 โจทก์มีสิทธิฟ้องได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน จะเอาอายุความ 1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุมาบังคับไม่ได้

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากสามีเมื่อจำเลยมิได้คัดค้านการที่โจทก์ไม่มีหนังสืออนุญาตของสามีให้โจทก์ฟ้องคดีมาแสดงในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นจำเลยจะอ้างเหตุที่โจทก์ไม่มีหนังสืออนุญาตดังกล่าวมาอุทธรณ์ฎีกาขอให้ยกฟ้องโจทก์มิได้ และจำเลยจะยกข้อบกพร่องของโจทก์เช่นนี้ขึ้นมาเป็นเหตุขอให้ยกฟ้องหาได้ไม่ นอกจากจะร้องขอให้ศาลสอบสวนและมีคำสั่งให้โจทก์แก้ไขข้อบกพร่องเสียให้บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 เท่านั้น และในชั้นพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ได้ยื่นหนังสือนุญาตของสามีโจทก์มาศาลได้รับไว้ ถือว่าโจทก์ได้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของโจทก์แล้วจำเลยจะอ้างว่าทำให้จำเลยเสียเปรียบไม่ได้

ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้ว จะฟ้องจำเลยไม่ได้ จำเลยไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ จึงไม่รับวินิจฉัย

จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 3, 4 และ 5 ลงมติให้นำรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ไปรับจ้างขนหินเพื่อหารายได้ เป็นการส่งเสริมฐานะเศรษฐกิจของสมาชิกของจำเลยที่ 1 ให้ดีขึ้น เห็นว่า ต้องกระทำภายในขอบเขตแห่งความมุ่งหมายในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และการกระทำของจำเลยไม่อยู่ในขอบเขตที่จะกระทำได้ตามความมุ่งหมายในข้อบังคับของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3, 4, และ 5 ซึ่งเป็นกรรมการผู้ลงมติให้กระทำต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

ในเรื่องค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ ไม่เห็นควรจะแก้ไข

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย

Share