แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวต้องรับผิดเป็นตัวการตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 แม้จำเลยที่ 1จะไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมและลงพิมพ์ไปตามคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบความเป็นไปในพรรคการเมืองก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2535เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันใส่ความหมิ่นประมาทนายโภคิน พลกุล ผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์และจำเลยที่ 1 ได้กระทำการโฆษณาด้วยตัวอักษรให้ปรากฏในหนังสือพิมพ์รายวัน “มติชน” ฉบับลงวันที่ 27 มกราคม 2536โดยพาดหัวข่าวว่า “แฉแก๊ง 4 พ.อ.-3 ดร*. ทำพรรคบิ๊กจิ๋วพัง”ซึ่งหมายความว่าพรรคการเมืองชื่อพรรคความหวังใหม่ มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธเป็นหัวหน้าพรรคได้ถูกทำลายลงโดยกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนายทหารยศพันเอก 4 นาย และนักวิชาการระดับปริญญาเอก 3 นาย นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังให้สัมภาษณ์ และจำเลยที่ 1 ได้ลงโฆษณารายละเอียดของข่าวว่า”ขณะนี้เกิดกลุ่มอิทธิพลในพรรค 3 กลุ่ม กลุ่มสองเป็นกลุ่ม 3ด็อกเตอร์ ประกอบด้วยนายโภคิน พลกุล นายปรีชา พงษ์ไกรเลิศนายโกเมศ ขวัญเมือง กลุ่มอิทธิพลนี้ได้ปลอมลายเซ็นหัวหน้าพรรคในการเบิกเงินพรรคและใช้ลายเซ็นปลอมในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญ ๆ” ทำให้ประชาชนผู้ได้อ่านข่าวดังกล่าวเข้าใจว่า ผู้เสียหายได้ปลอมลายเซ็นพลเอกชวลิตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่เบิกเงินพรรคไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวและแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ๆ ภายในพรรคการกระทำของจำเลยทั้งสองน่าจะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังจากบุคคลทั่วไป ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 326, 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484มาตรา 4, 48
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายโภคิน พลกุล ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 จำคุก 6 เดือน ปรับ10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยรับโทษจำคุกมาก่อนให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 พระราชบัญญัติการพิมพ์พ.ศ. 2488 มาตรา 4, 48 จำคุก 6 ปี ปรับ 20,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยรับโทษจำคุกมาก่อน จำเลยที่ 1มีอายุมากแล้วและมีอาชีพการงานในตำแหน่งสูง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ข้อความที่จำเลยที่ 2 ให้สัมภาษณ์และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนตามฟ้องซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการเป็นข้อความที่จำเลยที่ 2 ได้กล่าวหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมแต่ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 27มกราคม 2535 เป็นไปตามคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคความหวังใหม่เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพรรคความหวังใหม่นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พุทธศักราช 2484 มาตรา 48 บัญญัติไว้เป็นใจความว่าเมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์ ในกรณีหนังสือพิมพ์บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ร่วมและลงพิมพ์ไปตามคำสัมภาษณ์ของจำเลยที่ 2 เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบความเป็นไปในพรรคความหวังใหม่ก็ตามแต่เมื่อหนังสือพิมพ์ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นบรรณาธิการลงข้อความหมิ่นประมาทโจทก์ร่วม จำเลยที่ 1 ก็ย่อมมีความผิดในฐานะเป็นตัวการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ฎีกาจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับนั้น ปรากฏว่าเป็นอัตราโทษตามมาตรา 326 และ 328ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2535 แต่กฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2535 จึงเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำผิด และเป็นกฎหมายที่เพิ่มเฉพาะอัตราโทษปรับให้สูงขึ้นเนื่องจากอัตราโทษปรับขั้นสูงของมาตรา 326และ 328 เดิมนั้นมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และ 4,000 บาทตามลำดับจึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสอง จะนำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสองหาได้ไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2เป็นเงิน 2,000 บาทและ 1,000 บาท ตามลำดับ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์