คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5985/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สินค้าตามหมวด 4(3) แห่งบัญชีที่ 2 ท้าย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 133) พ.ศ. 2526มาตรา 9 มิได้จำกัดเฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนโดยเฉพาะดังนั้น แม้ว่าสินค้าพิพาทจะเป็นท่อเหล็กเอนกประสงค์ใช้ทำของใช้อย่างอื่นนอกจากเครื่องเรือนด้วยก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำเครื่องเรือนได้ และมิได้ผลิตจากสินค้าตามหมวด 4(4)(5) หรือ (6) ของบัญชีที่ 1อีกทั้งเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักร สินค้าท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมที่โจทก์ผลิตจึงเป็นสินค้าตามหมวด 4(3) บัญชีที่ 2 ท้ายพ.ร.ฎ. ดังกล่าว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินหมายเรียกตรวจสอบภาษีของโจทก์ แล้วประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลเพิ่มเติมสำหรับรายรับจากการผลิตท่อเหล็กและรายรับจากการผลิตรถเด็กเล่น โจทก์เห็นว่ารายรับจากการประกอบกิจการดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีการค้า การประเมินจึงไม่ชอบ ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือมีคำสั่งงดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้โจทก์ในอัตราต่ำสุดด้วย
จำเลยให้การว่า รายรับจากการผลิตท่อเหล็กและการผลิตของเด็กเล่นของโจทก์ ไม่ได้รับยกเว้นภาษี โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าสำหรับรายรับดังกล่าวการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับกันฟังได้ยุติในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ประกอบการค้าผลิตรถเด็กเล่นและท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมโดยซื้อเหล็กแผ่นม้วนมีขนาดความหนา 1.2 มิลลิเมตร นำมาตัดตามแนวยาวเป็นขนาดต่าง ๆ แล้วเข้าเครื่องขึ้นรูปเป็นท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมเส้นผ่าศูนย์กลางขนาดตั้งแต่ครึ่งนิ้วจนถึงสามนิ้วยาวขนาดเดียวคือ6 เมตร ท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมที่ผลิตได้ โจทก์จะนำไปผลิตเป็นรถเด็กเล่น อีกส่วนหนึ่งจะขายส่งให้แก่ผู้ซื้อทั่ว ๆ ไป และท่อเหล็กใช้เป็นท่อเหล็กเอนกประสงค์ นอกจากใช้ทำเครื่องเรือนแล้วยังใช้ทำเป็นท่อไอเสีย แผงกั้นจราจร ท่อน้ำยาแอร์รถยนต์ โครงหลังคารถสองแถวและแฮนด์รถจักรยานได้ด้วย เจ้าพนักงานประเมินได้วิเคราะห์แบบยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าของโจทก์ประจำปี พ.ศ.2526 และ 2527 แล้วพบว่าโจทก์เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง จึงออกหมายเรียกโจทก์มาตรวจสอบไต่สวนแล้วได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่ม ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 27 47/3/02203สำหรับปี พ.ศ. 2526 ให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มสำหรับรายรับจากการผลิตรถเด็กเล่น รวมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 2,422.30 บาท และเสียภาษีการค้าเพิ่มสำหรับรายรับจากการผลิตท่อเหล็ก รวมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาลรวมเป็นเงิน 806,775.32 บาท และตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเลขที่ 27 47/3/02204 สำหรับปี พ.ศ. 2527 ให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่ม สำหรับรายรับจากการผลิตรถเด็กเล่น รวมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 5,048.55 บาท และเสียภาษีการค้าเพิ่มสำหรับรายรับจากการผลิตท่อเหล็ก รวมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่มและภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน 10,219.52 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า ท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมที่โจทก์ผลิตนั้น เข้าลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนตามบัญชีที่ 2 หมวด 4(3)ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 133) พ.ศ. 2526 มาตรา 9 จึงต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 3 ของรายรับสำหรับปี พ.ศ. 2526ตามมาตรา 7(2) (ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517และในอัตราร้อยละ 5 ของรายรับสำหรับปี พ.ศ. 2527 ตามมาตรา 7(2)(ข) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 142) พ.ศ. 2526 แต่โจทก์เห็นว่าสินค้าท่อเหล็กที่โจทก์ผลิตเป็นท่อเหล็กเอนกประสงค์ใช้ทำของใช้ต่าง ๆ ได้ มิใช่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนโดยเฉพาะจึงไม่เข้าลักษณะเป็นสินค้าตามหมวด 4(3) แห่งบัญชีที่ 2 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จึงได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่เห็นว่าโจทก์มิได้มีเจตนาเลี่ยงภาษีจึงให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่ลดเบี้ยปรับภาษีการค้าลง คงให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 โดยให้โจทก์เสียภาษีการค้าเพิ่มจากการผลิตท่อเหล็กสำหรับปี พ.ศ. 2526 และ 2527รวมทั้งเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีบำรุงเทศบาล รวมเป็นเงิน668,834.10 บาท และเสียภาษีการค้าจากการผลิตรถเด็กเล่นเป็นเงิน 7,470.85 บาท และเงินเพิ่มตามกฎหมาย โจทก์ไม่อุทธรณ์ต่อศาลในประเด็นภาษีการค้าจากการผลิตรถเด็กเล่นคงอุทธรณ์ต่อศาลเฉพาะประเด็นภาษีการค้าจากการผลิตท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมเท่านั้น
ปัญหาในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยคงมีเพียงว่า สินค้าตามหมวด 4(3) แห่งบัญชีที่ 2 ท้ายพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 133)พ.ศ. 2526 มาตรา 9 กฎหมายจำกัดเฉพาะที่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนโดยเฉพาะหรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่าสินค้าตามหมวด 4(3) แห่งบัญชีที่ 2 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติจำกัดเฉพาะเจาะจงว่า ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนโดยเฉพาะดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าสินค้าพิพาทจะเป็นท่อเหล็กอเนกประสงค์ใช้ทำของใช้อย่างอื่น ๆ นอกจากเครื่องเรือนด้วยก็ตามแต่เมื่อโจทก์ยอมรับว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำเครื่องเรือนได้ และมิได้ผลิตจากสินค้าตามหมวด 4(4)(5) หรือ (6) ของบัญชีที่ 1 อีกทั้งเป็นสินค้าที่ผลิตในราชอาณาจักรด้วยสินค้าท่อเหล็กกลมและเหลี่ยมที่โจทก์ผลิต จึงเป็นสินค้าตามหมวด 4(3) บัญชีที่ 2 ท้ายพระราชกฤษฎีกา ฯ (ฉบับที่ 54) พ.ศ. 2517 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 133) พ.ศ. 2526 มาตรา 9การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าสินค้าพิพาทมิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการทำเครื่องเรือนโดยเฉพาะจึงไม่ใช่สินค้าตามหมวด 4(3) บัญชีที่ 2 ท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวและพิพากษาเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์.

Share