คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5238/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้มาที่สำนักงานที่ดินในตอนเช้าของวันกำหนดนัดโอน แต่เมื่อโจทก์ให้คนไปตามจำเลยทั้งสามก็มา จึงถือไม่ได้ว่า จำเลยทั้งสามไม่ไปโอนที่ดินตามนัด และการที่ได้เลื่อนจะนัดโอนที่ดินใน ตอนบ่ายและจำเลยทั้งสามไม่มาตามนัดก็ได้ความว่า ต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่สำนักงานที่ดิน หาไม่พบ แม้จำเลยจะมาตอนบ่าย เจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่สามารถจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ดี จำเลยทั้งสาม จึงมิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์
เมื่อโจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินมัดจำ 50,000 บาท และเงิน 240,000 บาท อันเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับไว้แล้วเป็นค่าที่ดินคืน แม้โจทก์จะเรียกค่าเสียหายอื่นรวมมาด้วย โดยอ้างว่าจำเลยผิดสัญญาก็ดี เมื่อปรากฏว่าเป็นเพียงกรณีเลิกสัญญากันและโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินส่วนหนึ่งในจำนวนที่เรียกร้องทั้งหมดจากจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนเงินจำนวน 290,000 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมได้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 395,931.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนจำเลยทั้งสาม
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยทั้งสามผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสามไม่มาตามนัดและหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้หายไปแต่เป็นเพราะจำเลยทั้งสามร่วมมือกับเจ้าพนักงานที่ดินอำเภอภูกระดึงจงใจสร้างเหตุการณ์ว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์หายเพื่อจะได้อ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและริบเงินมัดจำนั้น เห็นว่า แม้จะฟังว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้มาที่สำนักงานที่ดินในตอนเช้า แต่เมื่อโจทก์ให้คนไปตามจำเลยทั้งสามจำเลยทั้งสามก็มา ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบทนายความจำเลยทั้งสามถามค้านว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2537 โจทก์และจำเลยทั้งสามไปถึงสำนักงานที่ดินเวลาประมาณ 9 นาฬิกาเศษ โดยไปถึงพร้อม ๆ กัน ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามไม่ไปโอนที่ดินตามนัด และการที่ได้เลื่อนจะนัดโอนที่ดินกันในตอนบ่ายก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญา เหตุที่โอนที่ดินกันไม่ได้ปรากฏจากคำเบิกความของนายพายัพว่า เนื่องจากหาต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่สำนักงานที่ดินไม่พบและได้แจ้งเหตุขัดข้องให้คู่กรณีทราบแล้ว โจทก์จึงให้นายพายัพบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย จ.6 โดยมีการถ่ายภาพไว้เป็นหลักฐานตามภาพถ่าย แสดงว่า แม้จำเลยจะมาตอนบ่ายเจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่สามารถจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ดี จำเลยทั้งสาม จึงมิได้ผิดสัญญาต่อโจทก์ นายพายัพ เป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติราชการตามหน้าที่และไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด น่าเชื่อว่าจะเบิกความตามความจริงมิได้เบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย เหตุที่ในเอกสารหมาย จ.6 มิได้บันทึกถึงเหตุที่ หาต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฉบับสำนักงานที่ดินบันทึกไว้ นายพายัพจึงบันทึกให้ตามที่โจทก์แถลงขอให้บันทึก สำหรับเรื่องหนังสือรับรองการทำประโยชน์ฉบับสำนักงานที่ดินหาไม่พบนั้น ปรากฏจากคำเบิกความของนายพายัพว่าได้แจ้งให้จำเลยทั้งสามทราบในวันที่ 8 สิงหาคม 2537 แล้ว และนายพายัพและจำเลยทั้งสามยังเบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยทั้งสามได้ร้องเรียนต่อนายอำเภอภูกระดึง นายอำเภอสั่งการให้ นายพายัพดำเนินการ นายพายัพจึงทำบันทึกให้จำเลยทั้งสามลงชื่อไว้เพื่อแสดงให้เห็นว่าเอกสารสิทธิ์สูญหายตามสำเนาบันทึกถ้อยคำ ซึ่งถ้าไม่เป็นความจริงก็ไม่น่าเชื่อว่า จำเลยทั้งสามและเจ้าพนักงานที่ดินจะกล้าทำบันทึกหลักฐานเท็จเช่นนั้น ศาลได้ตรวจดูเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วก็ไม่เห็นมีพิรุธใดทั้งเอกสารหมาย ล.4 ที่โจทก์อ้างว่ามีพิรุธ ทำย้อนหลังนั้นโจทก์ก็ไม่มีพยานมาสืบสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้ฟังได้ว่าจำเลยผิดสัญญา ไม่ไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ดังฟ้อง และฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ไปรับโอนที่ดินพิพาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญา จำเลยทั้งสามมีสิทธิริบเงินมัดจำ 50,000 บาท และเงิน 240,000 บาท ที่ชำระค่าที่ดินบางส่วนหรือไม่ การเลิกสัญญานี้ ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืน สู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินมัดจำ 50,000 บาท และเงิน 240,000 บาท อันเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้รับไว้แล้วเป็นค่าที่ดินคืน แม้โจทก์จะเรียกค่าเสียหายอื่นรวมมาด้วย โดยอ้างว่าจำเลย ผิดสัญญาก็ดี เมื่อปรากฏว่าเป็นเพียงกรณีเลิกสัญญากันและโจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเงินส่วนหนึ่งในจำนวน ที่เรียกร้องทั้งหมดจากจำเลยทั้งสาม ศาลฎีกาย่อมพิพากษาให้จำเลยทั้งสามคืนเงินจำนวน 290,000 บาท ให้แก่โจทก์ เพื่อให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอระหว่างนายสงวน โจทก์ นายอโสกมนตรี จำเลย และจำเลยทั้งสามต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่รับเงินแต่ละจำนวนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคสอง แต่เมื่อโจทก์กล่าวในฟ้องคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2537 ศาลจึงกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในวันดังกล่าว
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินมัดจำและราคาที่ดินที่ชำระแล้วจำนวน 290,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share