แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตำรวจสันติบาลจะมีอำนาจสอบสวนได้เพียงไรหรือไม่นั้นต้องเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับ อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องนำสืบตามกระบวนความ.
(อ้างฎีกา 521 – 923/91)
จำเลยคัดค้านตลอดมาว่า ตำรวจสันติบาลไม่มีอำนาจสอบสวน เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ แต่โจทก์หาได้นำสืบหรืออ้างอิงหลักฐานประการใดไม่ ดังนี้ คดีฟังไม่ได้ว่า ได้มีการสอบสวนโดยชอบ ศาลจำต้องยกฟ้อง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยสมคบกันมี หรือใช้อากรแสตมป์ปลอม และในฟ้องกล่าวว่า เรื่องนี้ตำรวจสันติบาลได้สอบสวนแล้ว จำเลยทั้งสามปฏิเสธความผิด จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า ตำรวจสันติบาลไม่มีอำนาจสอบสวน ต่อมาจำเลยที่ ๑ ขอให้การรับสารภาพ จำเลยที่ ๓ ขอให้การรับตามที่รับชั้นสอบสวน ศาลชั้นต้นฟังว่า ตำรวจสันติบาลมีอำนาจสอบสวนได้ และจำเลยทั้ง ๓ มีผิดตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ม.รัษฎากร (ฉบับที่ ๕) ๒๔๘๙ มาตรา ๒๙ ให้ปรับจำเลยที่ ๓, ๒๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๒, ๑๕๐๐ บาท จำเลยที่ ๑, ๑๐๐๐ บาท ของกลางริบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์,จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตำรวจสันติบาลจะมีอำนาจสอบสวนได้หรือไม่ ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดหรือข้อบังคับอันเป็นข้อเท็จจริง ที่จะต้องนำสืบตามกระบวนความ คดีนี้ จำเลยได้คัดค้านตลอดมาว่าตำรวจสันติบาลไม่มีอำนาจสอบสวน เป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบ แต่โจทก์หาได้นำสืบหรืออ้างอิงหลักฐานประการใดไม่ คดีจึงยังฟังไม่ได้ว่าคดีได้มีการสอบสวนโดยชอบ ศาลต้องยกฟ้อง ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น เมื่อศาลต้องยกฟ้องอันเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี ย่อมมีผลถึงจำเลยที่ ๑ และ ๓ ด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ของกลางริบ