แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การโอนทรัพย์สินที่มีคนเช่าไปยังบุคคลอื่นนั้น ไม่ใช่เป็นการโอนหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306 หากเป็นกรณีที่ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 569 ซึ่งผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ผู้รับโอนจึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้เช่าทราบการโอนเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306
(นัยฎีกา 516 ถึง 520/2498)
หากข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นหยิบยกขึ้นวินิจฉัยนั้นผิดพลาด เป็นเหตุให้ฟังข้อเท็จจริงผิด ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงของศาลชั้นต้นแล้วมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีไปตามนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเช่าเรือนนางดำซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองสงขลา นางดำขายเรือนนี้ให้โจทก์ จำเลยก็เช่าเรือนนี้กับโจทก์ต่อมาแต่ไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ เป็นการผิดสัญญา ขอให้ขับไล่
จำเลยให้การว่า จำเลยเช่าเรือนพิพาทจากนางดำตลอดมา โจทก์จะได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาอย่างไร โจทก์ไม่เคยแจ้งให้จำเลยทราบจำเลยชำระค่าเช่าให้นางดำ เรื่อยมาจนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๐๐ แล้วนางดำก็ไม่ยอมรับค่าเช่าอีก จำเลยเข้าใจว่านางดำหาทางฟ้องขับไล่จำเลยๆ จึงนำค่าเช่าไปวางต่อกรมการอำเภอทุกๆ เดือน จำเลยจึงไม่ผิดสัญญาเช่า
ศาลจังหวัดสงขลาเห็นว่า นางดำโอนเรือนให้โจทก์ๆ ก็เป็นผู้รับโอนสิทธิการเช่ามาด้วย แต่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ บังคับให้โจทก์บอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยทราบการโอน เมื่อโจทก์ไม่มีหลักฐานว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ก็ต้องถือว่าจำเลยยังไม่ทราบการโอนรายนี้ จำเลยจึงยังไม่อยู่ในฐานะที่จะต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ จะถือว่าจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าแก่โจทก์ไม่ได้ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลสั่งไม่รับอุทธรณ์ข้อเท็จจริง คงรับอุทธรณ์ข้อกฏหมายเฉพาะข้อที่ว่ากรณีนี้เป็นเรื่องของการเช่า ไม่ใช่เป็นเรื่องโอนหนี้สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ แต่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ ไม่ต้องแจ้งการโอน
ศาลอุทธรณ์ปรึกษาว่า ข้อกฎหมายฟังได้ว่านางดำโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ฯ ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ โจทก์ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้จำเลยทราบเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๐๖ นัยฎีการที่ ๕๑๖ ถึง ๕๒๐/๒๔๙๘ ก็ฟ้องจำเลยได้ และศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากท้องสำนวน จึงฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่าจำเลยเช่าบ้านพิพาทจากโจทก์และจำเลยทราบแล้วว่าบ้านพิพาทเป็นของโจทก์ และฟังว่าจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์เกือบ ๑ ปี ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน เพราะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าเกินกว่า ๒ ครั้งติดกัน จึงพิพากษาฟ้องกลับ ให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่าการโอนทรัพย์สินที่มีคนเช่าอยู่ไปยังบุคคลอื่นนั้น ไม่เป็นการโอนหนี้ตามมาตรา ๓๐๖ หากเป็นภรณีที่ต้องบังคับตามมาตรา ๕๖๙ ซึ่งรับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ คำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ตามนัยฎีกาที่ ๕๑๖-๕๒๐/๒๔๙๘ ชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นชี้ข้อเท็จจริงไว้แล้วว่าจำเลยเช่าจากนางดำและจำเลยไม่ผิดนัด ซึ่งเมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลก็สั่งรับอุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายศาลอุทธรณ์ จึงไม่มีอำนาจฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้นั้นเห็นว่า เรื่องนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงดังว่าเป็นเช่นนั้นก็เนื่องมาจากข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าการโอนทรัพย์สินที่เช่าเป็นการโอนหนี้ซึ่งจะต้องบอกกล่าวผู้เช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตร ๓๐๖ อันข้อกฎหมายที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อฟังข้อเท็จจริงนี้เป็นการผิดต่อกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๔๓ ข้อ ๓ (ก) ให้อำนาจศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงใหม่แทนข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมา แล้วพิพากษาชี้ขาดไปตามนั้นได้ และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทราบถึงการที่โจทก์รับโอนบ้านพิพาทจากนางดำแล้วไม่ชำระค่าเช่า ก็เป็นการผิดนัดแล้ว
พิพากษายืน