คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1614/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 102 อยู่ในหมวด 7 ว่าด้วย ‘สหภาพแรงงาน’ มีความตอนต้นให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงาน ฉะนั้น ข้อความในตอนต่อมาที่ว่ามีสิทธิไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นเท่านั้น ย่อมไม่หมายถึงการประชุมในเรื่องใด ๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด มิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำ โจทก์ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกสหภาพแรงงานพนักงานธนาคารออมสินเป็นประธานสหภาพแรงงานดังกล่าว โจทก์ได้รับหนังสือจากคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอความร่วมมือให้ส่งกรรมการหรือสมาชิกสหภาพแรงงานไปร่วมประชุมสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง รัฐวิสาหกิจไทย อดีต ปัจจุบัน อนาคต โดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าสัมมนาคนละ ๕๐๐ บาท ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าร่วมประชุมสัมมนาในประเทศโดยไม่ถือเป็นวันลา รวมทั้งให้เบิกค่าลงทะเบียนสัมมนาได้ด้วย ที่ประชุมสหภาพฯ มีมติให้โจทก์ไปเข้าร่วมประชุมสัมมนาในนามของสหภาพฯ โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินเพื่อขออนุมัติไปสัมมนาโดยไม่ถือเป็นวันลาและขอเบิกค่าลงทะเบียนแต่จำเลยที่ ๒ ไม่อนุมัติตามคำขอของโจทก์ ก่อนที่โจทก์จะได้รับแจ้งจากจำเลยที่ ๒ โจทก์ได้ยื่นใบลากิจเพื่อไปร่วมสัมมนา และได้เข้าสัมมนาโดยเสียค่าลงทะเบียน ๕๐๐ บาท การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ ขอให้จำเลยปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวโดยถือว่าวันลากิจเพื่อไปร่วมสัมมนาเป็นวันทำงาน และให้จำเลยจ่ายค่าลงทะเบียนให้โจทก์ ๕๐๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า กรณีของโจทก์ไม่ต้องตามมาตรา ๑๐๒ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เพราะไม่ใช่เป็นการลาเพื่อการเจรจาไกล่เกลี่ย และการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานแต่อย่างไร หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับการวางนโยบายและรับทราบประวัติของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น นอกจากนี้คำว่า “ตามที่ทางราชการกำหนด” ตามมาตรา ๑๐๒ หมายถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านแรงงาน คือกระทรวงมหาดไทยหรือกรมแรงงานเท่านั้น แต่ไม่หมายถึงคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การไปร่วมประชุมดังกล่าวเป็นความประสงค์ของโจทก์และสหภาพฯ ซึ่งโจทก์มีสิทธิลาไปตามระเบียบของจำเลยได้ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าขึ้นทะเบียนจากจำเลยขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯมาตรา ๑๐๒ บัญญัติว่า “ลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานมีสิทธิลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงานในฐานะผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา การไกล่เกลี่ยและการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน และมีสิทธิลาเพื่อไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ ทั้งนี้ให้ลูกจ้างดังกล่าวแจ้งให้นายจ้างทราบล่วงหน้าถึงเหตุที่ลาโดยชัดแจ้ง พร้อมทั้งแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ถ้ามี และให้ถือว่าวันลาของลูกจ้างนั้นเป็นวันทำงาน” มาตรา ๑๐๒ นี้อยู่ในหมวด ๗ ว่าด้วย “สหภาพแรงงาน” ข้อความตอนต้นของมาตรา ๑๐๒ ให้สิทธิลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานลาเพื่อไปดำเนินกิจการสหภาพแรงงาน ฉะนั้น ข้อความในตอนต่อมาที่ว่า มีสิทธิไปร่วมประชุมตามที่ทางราชการกำหนดได้ จึงต้องหมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องที่เกี่ยวกับสหภาพแรงงานที่ทางราชการกำหนดขึ้นเท่านั้น ย่อมไม่หมายถึงการไปร่วมประชุมในเรื่องใด ๆ โดยไม่มีขอบเขตจำกัด มิฉะนั้นลูกจ้างซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงานก็จะอ้างสิทธิไปร่วมประชุมในเรื่องที่ทางราชการกำหนดได้ทุกเรื่อง หากกฎหมายประสงค์จะให้สิทธิลูกจ้างไปประชุมในเรื่องอื่น ๆ ก็ต้องบัญญัติไว้ในหมวดอื่นหรือมาตราอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสหภาพแรงงาน ที่โจทก์อ้างว่าจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลจากข้อเท็จจริงและทางวิชาการอย่างกว้างขวางเพื่อจะได้นำมาดำเนินการเรียกร้องต่อนายจ้างให้ถูกต้องและเหมาะสมนั้น แม้จะเป็นความจำเป็นก็ต้องดำเนินการเป็นส่วนตัวจะอ้างสิทธิตามมาตรา ๑๐๒เพื่อไปสัมมนาโดยถือเป็นวันลา และให้จำเลยออกค่าใช้จ่ายให้หาได้ไม่ ส่วนหนังสือที่โจทก์อ้างว่าทางราชการอนุมัติให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเข้าสัมมนาได้โดยไม่ถือเป็นวันลา ก็เป็นเรื่องรองนายกรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่วไป ไปร่วมสัมมนาได้โดยไม่ถือเป็นวันลาเท่านั้น ทั้งยังต้องอยู่ภายใต้หลักการต่าง ๆ ๕ ประการด้วย ที่สมควรหยิบยกมาพิจารณาก็คือ ข้อความในข้อ ๒ ที่ว่า “การประชุมสัมมนานั้นจะต้องเป็นประโยชน์แก่ทางราชการและเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่ของผู้เข้าประชุมสัมมนา” หน้าที่ของโจทก์ก็คือพนักงานบัญชีในธนาคารออมสิน ไม่เกี่ยวข้องกับหัวข้อสัมมนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหนังสือเชิญมาแต่อย่างใด จึงหาก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ในการไปร่วมแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share