แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงาน ที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล สิทธิของกรมสรรพากรและกรุงเทพมหานคร ผู้ร้องตามประมวลรัษฎากรถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมายซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โจทก์ชนะคดีและนำยึดที่ดินจำเลยออกขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยเงินที่ขายทอดตลาดนั้นได้ตามมาตรา 290
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องทั้งสองเข้าเฉลี่ยหนี้ค่าภาษีอากรจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่โจทก์จำเลยและผู้ร้องแถลงรับกันว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้ประเมินเรียกเก็บภาษี พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจากจำเลยเป็นเงินทั้งสิ้น 20,305,122 บาท 64 สตางค์จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินของผู้ร้องที่ 1 ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยและจำเลยยังไม่ได้ชำระภาษีตามที่ผู้ร้องที่ 1 ประเมินเรียกเก็บ จำเลยได้ขอทุเลาการชำระภาษีต่อผู้ร้องที่ 1แต่ผู้ร้องที่ 1 ไม่อนุญาตและจำเลยไม่มีทรัพย์สินพอที่ผู้ร้องจะยึดชำระหนี้
จำเลยฎีกาว่า ภาษีอากรค้างที่ผู้ร้องขอเฉลี่ยเป็นภาษีอากรที่ยังไม่แน่นอนเนื่องจากจำเลยยังอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อยู่และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังไม่ได้ชี้ขาด จึงมีผลเท่ากับไม่มีภาษีอากรค้าง ได้พิเคราะห์แล้ว ประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคแรกได้บัญญัติว่า”ภาษีอากรซึ่งต้องเสียตามลักษณะนี้ ถ้าเมื่อถึงกำหนดแล้วมิได้เสียให้ถือเป็นภาษีอากรค้าง” และประมวลรัษฎากร มาตรา 31 ได้บัญญัติว่า “การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร ถ้าไม่เสียภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี” คดีนี้ตามคำร้องของผู้ร้องซึ่งจำเลยไม่โต้เถียงเป็นอย่างอื่นปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ได้ขอทุเลาการชำระภาษี แต่ผู้ร้องที่ 1 ไม่อนุญาตฉะนั้นที่จำเลยอ้างว่าไม่มีภาษีอากรค้างจึงฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ย
ปัญหาว่าผู้ร้องทั้งสองมีสิทธิขอเฉลี่ยได้หรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในเรื่องค่าภาษีอากรซึ่งต้องเสียตามประมวลรัษฎากรนั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา 12 บัญญัติไว้ว่า” ฯลฯ เพื่อให้ได้รับชำระภาษีอากรค้างให้เป็นอำนาจของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอ โดยเฉพาะที่จะสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง ฯลฯ” ดังนี้เห็นว่า บทบัญญัติมาตรานี้เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล สิทธิของผู้ร้องตามประมวลรัษฎากรถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินได้ตามกฎหมายซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ผู้ร้องจึงมีสิทธิที่จะร้องขอเฉลี่ยตามมาตรา 290 ได้”
พิพากษายืน