แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 ที่บัญญัติว่าห้างหุ้นส่วนแม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีนั้นมิได้หมายความว่าในระหว่างนั้นห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจะทำกิจการได้ทุกอย่าง แต่จะทำได้เฉพาะกิจการอันจำเป็นเพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น ซึ่งได้แก่กิจการอันเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1259
การค้ำประกันหนี้ผู้อื่นไม่ใช่กิจการอันจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนแล้วและอยู่ในระหว่างชำระบัญชีจึงกระทำมิได้และไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันซึ่งหุ้นส่วนผู้จัดการกระทำแทนแต่การที่หุ้นส่วนผู้จัดการทำสัญญาค้ำประกันดังกล่าวแทนห้างหุ้นส่วน เป็นเรื่องตัวแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจหุ้นส่วนผู้จัดการต้องรับผิดตามสัญญาโดยลำพัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 823
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งกระทำในฐานะส่วนตัวและในนามจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ซึ่งกระทำในฐานะส่วนตัวและในนามจำเลยที่ 3 ทำหนังสือสัญญาค้ำประกัน เมื่อสัญญาครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นหนี้โจทก์อยู่ โจทก์ทวงถามจำเลยทั้งสี่แล้วไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยทั้งสองนี้เนื่องจากถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยที่ 3 ที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ไม่เคยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง ระยะเวลาที่โจทก์อ้างในฟ้องเป็นเวลาภายหลังที่ห้างจำเลยที่ 3 เลิกแล้วและอยู่ในระหว่างชำระบัญชี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้เงินจำนวนหนึ่งและดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ผู้เดียวใช้เงินทุกจำนวนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการทำหนังสือสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ 2 ฉบับ จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันชำระหนี้ตามสัญญาฉบับแรก สัญญาค้ำประกันดังกล่าวได้กระทำในระหว่างชำระบัญชีหลังจากได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนแล้วและแต่งตั้งจำเลยที่ 4 เป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์ได้หักทอนบัญชีกระแสรายวันเลิกสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์อยู่ มีปัญหาว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1249 บัญญัติไว้ว่า “ห้างหุ้นส่วนก็ดี บริษัทก็ดีแม้จะได้เลิกกันแล้ว ก็ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี” นั้น มิได้หมายความว่าในระหว่างนั้นห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจะทำกิจการได้ทุกอย่าง แต่จะทำได้เฉพาะกิจการอันจำเป็นเพื่อการชำระบัญชีเท่านั้น ซึ่งได้แก่กิจการอันเป็นอำนาจของผู้ชำระบัญชีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1259 การค้ำประกันหนี้ผู้อื่นไม่ใช่กิจการอันจำเป็นเพื่อการชำระบัญชี จำเลยที่ 3 จึงกระทำมิได้ ดังนั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันนั้น
ที่จำเลยที่ 4 ฎีกาว่า จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันแทนจำเลยที่ 3 มิได้กระทำในฐานะส่วนตัว ทั้งจำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันแล้ว จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 4 จะกระทำแทนจำเลยที่ 3 แต่เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจทำสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 4 ก็ไม่มีอำนาจทำสัญญานั้นแทนได้ การที่จำเลยที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันแทนจำเลยที่ 3 จึงเป็นเรื่องตัวแทนกระทำโดยปราศจากอำนาจจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาโดยลำพัง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 823
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ