คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 178/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อตกลงตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าที่ว่า โจทก์รับหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรและธิดาทั้งสาม เป็นผู้ส่งเสียให้การศึกษาเอง โดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งปัจจุบันและอนาคต เป็นอันบังคับได้จนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลง มิใช่เป็นเรื่องสละสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดู ไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เป็นโมฆะ โจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้อุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรที่โจทก์ได้จ่ายไปหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยสมรสกัน มีบุตรผู้เยาว์ ๓ คน ต่อมาได้ยินยอมจดทะเบียนหย่ากัน โดยตกลงว่าโจทก์รับอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสามไป จำเลยจะต้องออกด้วยครึ่งหนึ่งเป็นเงินถึงวันฟ้อง ๕๐,๔๐๐ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยใช้เงิน ๕๐,๔๐๐ บาท แก่โจทก์ และจ่ายเป็นรายเดือนต่อไปเดือนละ ๑๐,๕๐ บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคล โจทก์ฟ้องในฐานะส่วนตัวไม่ได้ จำเลยไม่ต้องรับอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามบันทึกการหย่าท้ายฟ้อง เพราะโจทก์ประสงค์หย่าเอง และรับเอาที่ดินสินสมรสไปแต่เพียงผู้เดียว จำเลยต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส จึงเท่ากับโจทก์ได้รับค่าตอบแทนไปแล้ว ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่เรียกสูงเกินไป
ไป
ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่โจทก์เป็นเงิน ๓๘,๙๗๓.๕๐ พร้อมทั้งดอกเบี้ย กับให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละ ๙๐๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแล้วว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเดือนละ ๙๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะบรรลุนิติภาวะ โดยเมื่อผู้เยาว์คนใดบรรจุนิติภาวะแล้วก็ก็ให้ลดลงนับแต่วันฟ้องจนกว่าผู้เยาว์ทั้งสามจะบรรลุนิติภาวะ โดยเมื่อผู้เยาว์คนใดบรรลุนิติภาวะแล้วให้ลดลงตามสัดส่วนของคนนั้น คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนการหย่าท้ายฟ้องดังกล่าวทำเมื่อวันที่ ๓ มกราคา ๒๕๑๖ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น มาตรา ๑๕๐๕ บัญญัติว่า “เมื่อสามีภรรยาหย่ากัน ให้ต่างออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรโดยกำหนดจำนวนไว้ในสัญญาหย่า
เมื่อประกอบกับมาตรา ๑๕๙๘ วรรคสองที่บัญญัติว่า “ในการกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดู ให้พิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งเรื่องตลอดถึงรายได้และฐานะของคู่กรณี” แล้วจะเห็นว่าแม้สามีภรรยาหย่ากันแล้ว กฎหมายต้องการคุ้มครองบุตรผู้เยาว์ให้ได้รับการเลี้ยงดูเหมือนเช่นขณะที่สามีภรรยายังไม่ได้หย่ากัน โดยให้ต่างออกเงินค่าอุปกรณ์เลี้ยงดูบุตรโดยกำหนดไว้ในสัญญาหย่า โดยคำนึงถึงรายได้และฐานะของสามีภรรยา ถ้ามีเท่ากันก็อาจจะออกค่าอุปการะเลี้ยงดูคนละครึ่ง ถ้าไม่เท่ากันก็อาจตกลงให้ฝ่ายที่มีรายได้และฐานะดีกว่าออกมากกว่า หรือฝ่ายที่มีรายได้และฐานะดีจะตกลงรับเป็นผู้ออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแต่ฝ่ายเดียวโดยไม่กระทบกระเทือนถึงสวัสดิการและความเป็นอยู่ของบุตรก็ย่อมทำได้ เพราะหน้าที่ของบิดามารดาที่จำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามความสมควรแก่บุตรผู้เยาว์นั้น แม้จะตกลงกันไว้อย่างไรก็ย่อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๙๖ ว่า “เมื่อผู้มีส่วนได้เสียแสดงได้ว่า พฤติการณ์รายได้หรือฐานะของคู่กรณีได้เปลี่ยนแปลงไปศาลจะสั่งให้เพิกถอนลด เพิ่มหรือกลับให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูอีกก็ได้ แล้วแต่กรณี” ดังนั้น ข้อตกลงตามบันทึกหลังทะเบียนหย่าท้ายฟ้องที่ว่าโจทก์รับหน้าที่อุปการะเลี้ยดูบุตรและธิดาทั้งสามคนดังกล่าว โจทก์เป็นผู้ส่งเสียให้การศึกษาเองโดยจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบส่งเสียค่าเลี้ยงดูแต่อย่างใด ทั้งปัจจุบันและอนาคตจึงเป็นอันใช้บังคับได้ จนกว่าศาลจะสั่งเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้น ข้อตกลงดังกล่าวหาใช่เป็นเรื่องสละสิทธิที่จะได้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไม่ จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและไม่เก็นโมฆะ โจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยรับชดใช้ค่าอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรที่โจทก์ได้จ่ายไปตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวข้างต้นครึ่งหนึ่งหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share