แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จะเกิดเป็นสัญญาหมั้นได้นั้น จำต้องมีของหมั้นเป็นหลักฐาน.
(อ้างฎีกา 676/2487)
ของหมั้นนั้น ตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา 1436 วรรคแรก จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่า จะสมรสกับหญิงนั้น จึงจำต้องมีการมอบกัน.
ฝ่ายหญิงได้ตกลงเรียกทองหมั้นหนัก 12 บาท ฝ่ายชายได้มอบทองหนัก 6 บาทไว้ก่อน ส่วนอีก 6 บาทได้มอบโฉนดซึ่งมีเนื้อที่ 108 ไร่ ให้ยึดไว้แทน โดยตีราคาเนื้อที่นาในโฉนดนี้เพียง 50 ไร่ เท่ากับทอง 6 บาท เมื่อชายตายโดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส หญิงก็ได้แต่เก็บเอาทองหมั้น 6 บาทที่ได้มอบไว้แล้วนั้น (มาตรา 1440) ส่วนทองอีก 6 บาทที่ยังไม่ได้มอบหาใช่ของหมั้นไม่ หญิงจึงจะเก็บเอาไว้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่หญิง จะเรียกเอาก็ไม่ได้เพราะสัญญาหมั้นเลิกกันเพราะความตายของชายแล้ว ไม่มีบทกฎหมายใด ให้หญิงเรียกได้ เมื่อไม่มีมูลหนี้ที่หญิงจะเรียกร้องต่อไป โฉนดที่ฝ่ายชายวางไว้เป็นประกัน จึงไม่มีหนี้จะประกัน หญิงก็ยึดโฉนดไว้ไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้สู่ขอจำเลยที่ ๒ บุตรีจำเลยที่ ๑ ให้แก่นายฟื้นบุตรโจทก์ จำเลยที่ ๑ เรียกทองหมั้นหนัก ๖ บาท สินสอด ๒๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ จะยกที่นาให้จำเลยที่ ๒ ห้าสิบไร่ โจทก์จะยกที่นาโฉนดที่ ๒๗๕๒ ของโจทก์ให้แก่นายฟื้น โจทก์ได้นำทองหมั้น ๖ บาทให้กับจำเลยที่ ๑ แล้ว จำเลยที่ ๑ กับโจทก์ได้จัดการแต่งงานระหว่างนายฟื้นกับจำเลยที่ ๒ ตามกำหนด วันแต่งงานจำเลยได้ขอโฉนดไปดูแลเก็บเอาไว้เฉย ๆ ซึ่งโจทก์จะโอนให้นายฟื้นก็ต่อเมื่อคู่แต่งงานอยู่กินกันที่บ้านโจทก์ แต่งงานแล้วยังไม่ทันจดทะเบียนสมรสกัน และมาอยู่กันยังบ้านโจทก์ นายฟื้นก็ตายลง โจทก์จึงขอให้ส่งโฉนดที่ ๒๗๙๒ คืน จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ได้สัญญากับจำเลยที่ ๑ ว่ายอมให้เงิน ๒๐๐๐ บาท ทองหนัก ๑๒ บาท ในวันหมั้น โจทก์มอบทองหนัก ๖ บาทไว้ก่อน ทองหมั้นอีก ๖ บาทนั้น จะนำมามอบเมื่อโจทก์หายป่วยแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานได้มอบโฉนดที่ ๒๗๕๒ ซึ่งมีเนื้อที่ ๑๐๘ ไร่ยึดไว้แทน โดยตีราคาเนื้องที่นาในโฉนดนี้เพียง ๕๐ ไร่ เท่ากับทองหมั้นที่ยังขาดอีก ๖ บาท ส่วนนาที่เกิน๕๘ ไร่นั้น โจทก์จะจัดการโอนให้นายฟื้นภายหลังสมรสกับจำเลยที่ ๒ แล้ว โจทก์หายป่วยแล้วไม่ยอมนำทองหมั้นอีก ๖ บาทมาให้ตามสัญญา โจทก์ขอผัดเรื่อยมาจนนายฟื้นฆาตกรรมตนเอง โดยยังไม่ทันจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ ๒ จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์รับโฉนดที่ ๒๗๙๒ คืนโดยจะส่งต้องส่งทองหมั้นที่ยังขาดอีก ๖ บาท หรือราคา ๓๖๐๐ บาทแก่จำเลย โจทก์แก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิยึดโฉนดเพราะการเรียกร้องไม่ใช่สิทธิของจำเลยที่ ๒ และไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชนะคดีตามฟ้องแย้ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เมื่อชายที่จะเป็นคู่สมรสได้ตายไปแล้วก่อนสมรส การสมรสไม่อาจมีขึ้นได้ จึงหมดความจำเป็นในกฎหมายที่จะยึดโฉนดไว้ต่อไป พิพากษากลับให้จำเลยคืนโฉนด และยกฟ้องแย้ง
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ในเรื่องหมั้นนี้ จะเกิดเป็นสัญญาหมั้นได้ จำต้องมีของหมั้นเป็นหลักฐาน และที่จะเป็นของหมั้นได้นั้น ตาม ป.ม.แพ่งฯ มาตรา ๑๔๓๖ วรรคแรกจะต้องเป็นทรัพย์สิน ซึ่งฝ่ายชายให้ไว้แก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าจะสมรสกับหญิงนั้น จึงจะต้องมีการมอบกัน ทองหมั้น ๖ บาทที่ยังขาดส่งนี้ จึงยังมิใช่ของหมั้น คดีนี้เป็นเรื่องชายตาย ซึ่งเข้ามาตรา ๑๔๔๐ ซึ่งบัญญัติว่าหญิงไม่ต้องคืนของหมั้น หญิงจึงได้แต่เก็บของหมั้น คือทอง ๖ บาทที่มอบไว้แล้ว ส่วนทองอีก ๖ บาทไม่ใช่ของหมั้น หญิงจึงเก็บไว้ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่หญิงและไม่ใช่เป็นของหมั้น จะเรียกก็ไม่ได้ เพราะสัญญาหมั้นได้เลิกกันด้วยความตายของชายแล้ว และไม่มีบทกฎหมายให้หญิงเรียกได้ หมายความว่าไม่มีมูลหนี้ที่หญิงจะเรียกร้องต่อไปในโฉนดที่ฝ่ายชายวางไว้เป็นประกัน จึงไม่มีหนี้จะประกันหญิงย่อมยึดไว้ไม่ได้
พิพากษายืน.