แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เมื่อตามระเบียบปฏิบัติงานของธนาคารจำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งให้พนักงานเมื่อออกจากงานไม่ว่าจะด้วยเหตุใด ๆการที่รองผู้จัดการใหญ่ของจำเลยสั่งระงับการจ่ายเงินทุกประเภทที่โจทก์มีสิทธิได้รับเฉพาะคำสั่งที่ให้ระงับการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ซึ่งจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายระหว่างผิดนัดคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำสั่งจนถึงวันชำระเงินให้โจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ย 60,391.04 บาทแก่โจทก์ จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานของจำเลยในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ และรักษาการในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อสำนักงานใหญ่ ได้ลาออกจากงานเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2518 ระหว่างที่โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย จำเลยได้วางระเบียบปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสะสมเงินเป็นทุนเลี้ยงชีพและเงินบำเหน็จพิเศษสำหรับพนักงานของจำเลย (ตามเอกสารหมาย จ.4 ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519ของศาลแพ่ง) ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเงินตามระเบียบดังกล่าวด้วย วันที่ 30 ธันวาคม 2517 โจทก์มีหนังสือขอรับเงินทุนเลี้ยงชีพและเงินต่าง ๆ จากจำเลย วันที่ 7 มกราคม 2518 โจทก์มีหนังสือถึงประธานกรรมการธนาคารจำเลยยอมรับว่าโจทก์ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานที่จำเลยได้วางไว้ (ตามเอกสารหมาย จ.15 ในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519 ของศาลแพ่ง) วันที่21 เมษายน 2518 จำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งจำนวน 166,836.57 บาท ทุนเลี้ยงชีพประเภทสอง จำนวน 324,301.77 บาท และบำเหน็จพิเศษจำนวน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 541,138.34 บาท แต่รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารจำเลยสั่งให้ระงับการจ่ายเงินไว้ก่อน ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายน 2518 จำเลยฟ้องโจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิด ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานที่จำเลยวางไว้เป็นเหตุให้จำเลยเสียหายตามคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519 ของศาลแพ่ง ปรากฏว่าในวันที่ 16 กันยายน 2519 จำเลยจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพและบำเหน็จพิเศษ จำนวน 541,138.34 บาท ให้โจทก์ และวันที่ 10 พฤศจิกายน2519 ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้องคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519 โดยวินิจฉัยว่านายชื่นเมืองโจทก์ในคดีนี้มิได้ทำละเมิด คดีถึงที่สุด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยจากจำเลยได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ระเบียบปฏิบัติงานที่จำเลยวางไว้ ตามเอกสารหมาย จ.4 เกี่ยวกับเงินทุนเลี้ยงชีพ ระบุว่า เงินทุนเลี้ยงชีพ 2 ประเภท เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งเป็นเงินที่หักไว้จากเงินเดือนของพนักงานจำเลยทุกเดือน เพื่อเป็นการสะสม จำเลยจะจ่ายให้แก่พนักงานเมื่อออกจากงานไม่ว่าพนักงานผู้นั้นจะออกจากงานด้วยเหตุใด ๆ ส่วนเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองเป็นเงินที่จำเลยสมทบจ่ายให้พนักงานจำเลยเมื่อสิ้นปี เพื่อเป็นการสะสมเช่นกัน แต่เงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองนี้มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะไม่จ่ายให้พนักงานของจำเลยต้องออกจากงานเพราะกระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียหาย และเกี่ยวกับบำเหน็จพิเศษ ระบุว่าเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้พนักงานเพื่อเป็นบำเหน็จในการทำงานนาน แต่มีเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้พนักงานของจำเลยเมื่อออกจากงานโดยไม่มีความผิด ศาลฎีกาเห็นว่า ตามระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวจำเลยต้องจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งให้โจทก์โดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองและบำเหน็จพิเศษจำเลยจะจ่ายให้ต่อเมื่อโจทก์ออกจากงานโดยมิได้กระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยต้องเสียหายปรากฏว่าโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม 2517 ขอรับเงินทุนเลี้ยงชีพและเงินต่าง ๆ จากจำเลย การที่รองผู้จัดการใหญ่ของธนาคารสั่งระงับการจ่ายเงินทุกประเภทที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2518 ตามเอกสารหมาย จ.1 เฉพาะคำสั่งที่ให้ระงับการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่งจึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในระหว่างผิดนัดคิดเป็นดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง จนถึงวันที่ 16 กันยายน 2519 อันเป็นวันที่จำเลยชำระเงินให้โจทก์ คิดดอกเบี้ยแล้วเป็นเงิน 20,877.42 บาท ส่วนคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองและบำเหน็จพิเศษเป็นคำสั่งที่ชอบ เพราะโจทก์ยอมรับว่าได้ปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานที่จำเลยวางไว้ จำเลยมีสิทธิที่จะใช้เวลาตรวจสอบก่อนออกจากงานโจทก์มีความผิด หรือได้กระทำการประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายหรือไม่ ซึ่งจำเลยก็ได้ฟ้องโจทก์ตามคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519 กล่าวหาว่าโจทก์ทำละเมิด ปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติงานเป็นเหตุให้จำเลยเสียหายทั้งจำเลยก็ได้ชำระเงินดังกล่าวให้โจทก์ก่อนที่ศาลแพ่งจะพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 9313/2519 คดีถึงที่สุด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ในส่วนนี้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เฉพาะเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทหนึ่ง เป็นเงิน 20,877.42 บาท ส่วนเงินทุนเลี้ยงชีพประเภทสองและบำเหน็จพิเศษไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเห็นสมควรให้เป็นพับ”