คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3981/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยสั่งลงโทษถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสฐานลงชื่อเป็นนายแสดงภาวะไม่แน่นอนว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์อันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง โจทก์ยื่นคำร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะภาค 3 โดยมิได้ผ่านจำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งลงโทษโจทก์ ทั้งยื่นคำร้องทุกข์เมื่อล่วงเลยกำหนดเวลา 15 วัน นับแต่โจทก์ทราบคำสั่งลงโทษดังกล่าว เป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. 2506 ข้อ 4 และข้อ 5 ที่กำหนดว่าพระสังฆาธิการที่ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่เป็นธรรมก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่ง โดยให้ส่งคำร้องทุกข์นั้นผ่านผู้สั่งลงโทษภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ คำสั่งลงโทษโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นที่สุด โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้นได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์เป็นพระสังฆาธิการได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดโคธาราม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาจนกระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2526 จำเลยซึ่งเป็นพระสังฆาธิการตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเจ้าอาวาสและเป็นผู้บังคับบัญชาโจทก์ ได้มีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ อ้างว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเรื่องภิกษุสามเณรเซ็นนามเป็นนายแสดงภาวะไม่แน่นอนว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ โดยมิได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงนั้นเลยว่าการที่โจทก์เซ็นนามเป็นนายนั้นเป็นเพราะเหตุใดเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหรือไม่ อันเป็นการทำให้โจทก์เสียสิทธิในการได้เป็นเจ้าอาวาส ได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม ความจริงที่โจทก์เซ็นนามเป็นนายนั้น เพราะการโอนขายที่ดินที่โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตั้งแต่โจทก์เป็นคฤหัสถ์มีชื่อว่านายไพโรจน์ ยาม่วง สัญญาซื้อขายที่ดินก็ได้เซ็นต่อหน้าเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งขณะนั้นโจทก์ก็ได้แสดงตนเป็นบรรพชิตมิได้แสดงตนเป็นคฤหัสถ์และต้องการจะเซ็นนามเป็นพระภิกษุแต่เจ้าพนักงานที่ดินให้โจทก์เซ็นนามเป็นนายไพโรจน์ ยาม่วงเพื่อให้ตรงกับหลักฐานเดิมเพื่อการโอนกรรมสิทธิ์ มิฉะนั้นจะทำการโอนไม่ได้ โจทก์ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะเป็นความจำเป็นของทางราชการบังคับ ซึ่งโจทก์ก็ได้ชี้แจงเจ้าคณะภาค 1 ก่อนจำเลยจะมีคำสั่งแล้ว การเซ็นนามเป็นนายของโจทก์มิได้ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย มิได้มีเจตนาจะให้บุคคลใดหลงเชื่อหรือเข้าใจไขว้เขวว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์อันจะเป็นการแสดงภาวะไม่แน่นอน ดังนั้นการเซ็นนามเป็นนายของโจทก์ จึงมิใช่เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงจำเลยไม่อาจถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งได้ โจทก์ร้องเรียนและอุทธรณ์ต่อจำเลยขอให้จำเลยเพิกถอนคำสั่งและคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสให้โจทก์ จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่สั่งถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งหน้าที่เจ้าอาวาสวัดโคธาราม และคืนตำแหน่งให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ 47ระบุให้ทำการสอบสวนเท่านั้น ไม่จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งจำเลยก็มิได้สอบสวนเอง เนื่องจากขณะรับเรื่องที่มีผู้แจ้งให้ทราบนั้น จำเลยอาพาธอยู่จึงได้ส่งเรื่องให้เจ้าคณะภาค 1ผู้บังคับบัญชาชั้นสูงพิจารณา เจ้าคณะภาค 1 สอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์ผิดจริง ซึ่งถือว่าเป็นความผิดอย่างร้ายแรง จึงให้จำเลยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของโจทก์เป็นความผิดอย่างร้ายแรงจึงมีคำสั่งดังกล่าวซึ่งเป็นการปรับโทษสถานเบา เพราะหากปรับโทษตามที่เคยปรับมาแล้วโจทก์ต้องถูกปรับโทษถึงสึก จำเลยกระทำไปตามอำนาจหน้าที่อันถูกต้อง อีกประการหนึ่งหากโจทก์เห็นว่า คำสั่งไม่ถูกต้อง โจทก์ก็ชอบที่จะร้องทุกข์ไปตามระเบียบของมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าเดิมโจทก์ชื่อนายไพโรจน์ ยาม่วง เมื่อโจทก์อายุ 35 ปี ได้รับมรดกคือที่ดินจำนวน 1 แปลงจากบิดามารดา ต่อมาโจทก์อายุ 50 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุมีฉายาว่า พระไพโรจน์ ฐิตปุญโญ เมื่อพ.ศ. 2520 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคธารามต่อมาโจทก์ได้ขายที่ดินของโจทก์ให้แก่นายสิทธิชัย สิงหวัฒน์ในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินดังกล่าว โจทก์ลงชื่อเป็นนายไพโรจน์ ยาม่วง พระภิกษุสายัณห์ ฐิตธมโม ร้องเรียนว่าโจทก์ลงชื่อเป็นนายอันเป็นการแสดงภาวะไม่แน่นอนว่าเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ จำเลยจึงมีคำสั่งถอดถอนโจทก์ออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดโคธารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2526 โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงเจ้าคณะตำบลนำคำสั่งไปแจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ทำหนังสือร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะภาค 1 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2527 ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกามีว่า
1. อำนาจฟ้อง
2. จำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อในการสั่งลงโทษถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาสหรือไม่
ในประเด็นแรกเรื่องอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการร้องทุกข์ พ.ศ. 2506 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และตามความในข้อ 45 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506)ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ มหาเถรสมาคมได้วางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ 4 พระสังฆาธิการรูปใดถูกผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษฐานละเมิดจริยา ถ้าเห็นว่าคำสั่งลงโทษนั้นไม่เป็นธรรม ประสงค์จะร้องทุกข์ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาเหนือขึ้นไปชั้นหนึ่งข้อ 5 ในการร้องทุกข์นั้นต้องทำเป็นคำร้องมีสำเนาหนึ่งฉบับระบุสถานที่และวันเดือนปีที่ร้องทุกข์ ชี้แจงแสดงเหตุผลหรือข้อผิดถูกแล้วลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์นั้นพร้อมกับสำเนาคำสั่งลงโทษ ยื่นต่อผู้มีหน้าที่รับคำร้องทุกข์ดังกล่าว โดยให้ส่งผ่านผู้สั่งลงโทษภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งลงโทษ ตามระเบียบมหาเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้นนี้ ในกรณีของโจทก์ เมื่อโจทก์เห็นว่าคำสั่งลงโทษของจำเลยไม่เป็นธรรมโจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะภาค 1 โดยยื่นผ่านจำเลยซึ่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งลงโทษ ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2526 โจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าคณะภาค 1 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2527 โดยมิได้ผ่านจำเลย ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยระเบียบของมหาเถรสมาคมดังกล่าวแล้วข้างต้น ทั้งเป็นการล่วงเลยกำหนดเวลา 15 วันนับแต่โจทก์ทราบคำสั่งแล้ว คำสั่งลงโทษดังกล่าวจึงเป็นที่สุดโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งนั้นได้อีก”
พิพากษายืน

Share