คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 521/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจฯมาตรา 911 ที่บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงานและเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือเป็นแนวเดียวกัน ส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 วรรคสอง ดังนั้นการที่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุ 60 ปี จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ดังกล่าว จำเลยผู้เป็นนายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบสี่สำนวนฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างประจำทำงานที่องค์การสุรา วันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ทั้งสิบสี่ปรากฏตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2532จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่เพราะเหตุเกษียณอายุ โดยโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่มีความผิดจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสิบสี่สำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสิบสี่เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย วันเข้าทำงานและค่าจ้างอัตราสุดท้ายเป็นไปตามฟ้องโจทก์ทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ซึ่งมิใช่เป็นการเลิกจ้างในความหมายของกฎหมายแรงงาน แต่เป็นการออกจากงานโดยผลของกฎหมาย เพราะขาดคุณสมบัติของการเป็นพนักงานโดยมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9 และ 11ที่แก้ไขแล้ว นอกจากนี้การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุ ถือได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างที่แน่นอนโดยจำเลยไม่อาจเลิกจ้างได้ก่อนที่โจทก์ทั้งสิบสี่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งโจทก์ทั้งสิบสี่ได้ทราบดีถึงข้อกำหนดในเรื่องเกษียณอายุนี้แล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งสิบสี่
วันนัดพิจารณา ศาลแรงงานกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยอุทธรณ์ประการที่สองว่า การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุคือมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์เป็นกรณีสัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบสี่กับจำเลยได้สิ้นสุดลงด้วยตนเองโดยข้อตกลงที่ทำกันไว้ซึ่งโจทก์ทั้งสิบสี่ได้ทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับระยะเวลาการทำงานดังกล่าว จึงเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็เพราะพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 กำหนดไว้ไม่ใช่ว่ามีข้อตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสิบสี่กับจำเลย เพราะจำเลยหาได้ถูกผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่จนกว่าจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ไม่ จำเลยอาจจะเลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสี่เมื่อใดก็ได้ก่อนที่โจทก์ทั้งสิบสี่จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์หากโจทก์ทั้งสิบสี่ขาดคุณสมบัติข้ออื่นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือโจทก์ทั้งสิบสี่จะสมัครใจลาออกจากตำแหน่งก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ก็ย่อมทำได้ การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ทราบและยอมรับกฎเกณฑ์เกี่ยวกับข้อกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นเพียงรับทราบข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของพนักงานของจำเลยถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสิบสี่กับจำเลยตกลงกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน อันจะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสิบสี่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ที่แก้ไขแล้วไม่ใช่การเลิกจ้าง และการที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในคำนิยามของคำว่าการเลิกจ้างเหมือนประกาศฉบับเดิมนั้น แสดงให้เห็นว่า กฎหมายไม่ประสงค์จะให้ผู้พ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้างอันจะได้รับค่าชดเชยอีกนั้น เห็นว่า ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11ที่แก้ไขแล้ว บัญญัติว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ถือว่าขาดคุณสมบัติและเป็นอันพ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยทั่ว ๆ ไปของพนักงาน และเป็นบทบัญญัติให้รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างถือปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันเท่านั้นส่วนจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่ ต้องพิจารณาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวข้อ 46 วรรคสองที่แก้ไขแล้ว ได้ให้ความหมายของคำว่าการเลิกจ้างไว้ว่าหมายความว่าการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงานโดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 47 ฯลฯซึ่งหมายถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างออกจากงานไม่ว่ากรณีใด ๆโดยลูกจ้างไม่ได้กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสิบสี่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์อันหมายถึงโจทก์ทั้งสิบสี่ต้องออกจากงานโดยโจทก์ทั้งสิบสี่ไม่ได้กระทำความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ดังกล่าวส่วนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521มิได้บัญญัติให้การเกษียณอายุรวมอยู่ในความหมายของคำว่าการเลิกจ้างดังประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5)ก็เนื่องจากเห็นว่าความหมายของคำว่า การเลิกจ้างที่ให้ไว้ครอบคลุมถึงการที่นายจ้างให้ลูกจ้างพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุอยู่แล้ว หาได้ทำให้เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) ไม่มีความประสงค์ที่จะถือว่าการเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างไม่…แต่โจทก์ที่ 3 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ 141.80 บาท และค่าครองชีพอีกเดือนละ400 บาท จึงมีสิทธิได้ค่าชดเชยจำนวน 27,925 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้โจทก์ที่ 3 ได้รับค่าชดเชยจำนวน 27,925.71 บาทจึงไม่ถูกต้องและเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 3จำนวน 27,924 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2532 จนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share