แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 มาตรา 8ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า)และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวกับการศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า)พ.ศ. 2492 กับพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีอำนาจแต่งตั้งโดยพลการคณะกรรมการมัสยิดของโจทก์ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดได้มีคำสั่งแต่งตั้ง โดยมิได้มีการประชุมชาวสัปบุรุษเพื่อเลือกตั้งย่อมทำให้ผู้ได้รับแต่งตั้งไม่เป็นกรรมการโดยชอบและต่อมาคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งให้จำเลยกับพวกกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ต่อไป ตามเดิมก่อนยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามมัสยิดโจทก์
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามฟ้องคำให้การ และคำรับของคู่ความฟังได้ว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งถอดถอนจำเลยที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งอิหม่าม จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการมัสยิดของโจทก์เมื่อวันที่ 15 และวันที่ 23 มกราคม 2526 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6และเอกสารหมาย จ.7 จ.8 และเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2526 แต่งตั้งให้นายจรัส ค้าสุวรรณ นายสง่า เหลือรักษ์ นายประเสริฐ เจริญสง่านายอับดุสซาลาม ทรัพย์พจน์ นายสุรินทร์ มายา และ นายทองสุกบุญเหลือบ เป็นกรรมการมัสยิดโจทก์วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2526แต่งตั้งให้นายอามีน เชื้อผู้ดี ดำรงตำแหน่งอิหม่าม นายสะอิ๊ดเหลือรักษ์ ดำรงตำแหน่งคอเต็บของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2จ.3 และ จ.4 จำเลยที่ 1 กับพวกอุทธรณ์คำสั่งถอดถอนดังกล่าวและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 แก้คำสั่งถอดถอนของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรี โดยให้ภาคทัณฑ์ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และนายปรีชา เลาะฮึม นางสาววิไลลักษณ์ เครือนาคพันธ์นางละมูล มูซอ กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งไปตามเดิม ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 5 ที่โจทก์ฎีกาว่า คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ได้โดยพลการเมื่อเห็นสมควรและในกรณีตำแหน่งกรรมการมัสยิดว่างลงก่อนครบวาระ โดยไม่จำเป็นต้องประชุมชาวสัปบุรุษเลือกตั้งตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 นั้นปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า อิหม่าม คอเต็บ และคณะกรรมการมัสยิดของโจทก์ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนนทบุรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งโดยมิได้มีการประชุมชาวสัปบุรุษเพื่อเลือกตั้งขึ้นมานั้นมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า การแต่งตั้งกรรมการอิสลามประจำมัสยิด ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 มาตรา 8 ระเบียบการแต่งตั้งถอดถอนกรรมการอิสลามประจำมัสยิด (สุเหร่า) และวิธีดำเนินการอันเกี่ยวกับการศาสนกิจของมัสยิด (สุเหร่า) พ.ศ. 2492กับพระราชบัญญัติมัสยิดอิสลาม พ.ศ. 2490 มาตรา 8 คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดไม่มีอำนาจแต่งตั้งโดยพลการ จึงทำให้ผู้ได้รับแต่งตั้งไม่เป็นกรรมการโดยชอบ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2526 ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และพวกกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการอิสลามประจำมัสยิดโจทก์ต่อไปตามเดิมก่อนยื่นฟ้องคดีนี้ ผู้รับมอบอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องในนามมัสยิด ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน