คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1347/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา91 ตรี มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 และ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการมีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย พนักงานอัยการจึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 40,000 บาท
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี จำคุก 4 ปี ให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่คนละ 40,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้คืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ความผิดตามมาตรา 91 ตรี แห่งพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 นั้น เป็นคดีฉ้อโกงประเภทหนึ่ง อันพนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 หรือไม่ พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานหรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะมีคำว่า “หลอกลวงผู้อื่น…” แต่ก็มิใช่ความผิดฐานฉ้อโกงตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 43 และพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 ก็มิได้บัญญัติให้พนักงานอัยการโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินคืนแก่ผู้เสียหาย โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสี่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share