แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกันโจทก์ใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินของโจทก์มานานกว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลใดคัดค้าน ต่อมาจำเลยได้รื้อเสารั้วแนวเขตเดิมแล้วนำมาปักไว้ในทางพิพาท ทำให้ทางพิพาทแคบลงเป็นเหตุให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามปกติ ขอให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไป แม้โจทก์ระบุในคำฟ้องผิดพลาดว่า เป็นทางภารจำยอมก็ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำฟ้องเสียไป ส่วนทางพิพาทที่ถูกต้องจะเป็นทางอะไรนั้น เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเอง ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1641 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินติดด้านทิศใต้ที่ดินของโจทก์ โจทก์ใช้เส้นทางเข้าออกที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกมีความกว้าง 2.50 เมตร ยาวจากถนนสายบ้านเก่าน้อย – บ้านไผ่ ไปตลอดแนวจนถึงที่ดินของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2524 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้รถยนต์บรรทุกปุ๋ย และข้าวเปลือก เข้าออกที่ดินของโจทก์ ทางดังกล่าวจึงเป็นทางภารจำยอม ต่อมาวันที่ 19มกราคม 2540 จำเลยรื้อเสารั้วแนวเขตเดิม แล้วนำมาปักเป็นแนวเขตใหม่ล้ำเข้ามาในทางภารจำยอม ทำให้ทางภารจำยอมแคบลงเหลือความกว้างเพียง 1.10 เมตร โจทก์ไม่สามารถใช้รถยนต์เข้าออกทางภารจำยอมได้ โจทก์บอกให้จำเลยรื้อรั้วออกไปแต่จำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเดือดร้อน ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมโดยถอนเสารั้วทุกต้นที่ล้ำเข้ามาในทางภารจำยอมออกไปโดยให้ทางภารจำยอมมีความกว้าง 2.50 เมตร ตลอดแนว หากจำเลยไม่รื้อถอนขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยและให้โจทก์มีอำนาจรื้อถอนได้โดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า นายทอง สละ บิดาของโจทก์ยกที่ดินให้แก่โจทก์โดย แบ่งแยกที่ดินของตนออกเป็นหลายแปลงแล้วยกให้บุตรหลาน โจทก์สามารถใช้สิทธิขอเปิดทางจำเป็นจากที่ดินแปลงอื่นที่เหมาะสมกว่าที่ดินของจำเลยและเป็นที่ดินแปลงที่เคยแบ่งแยกปันกันนั้นได้ โจทก์ไม่มีอำนาจมาอ้างเอาที่ดินของจำเลยเป็นทางภารจำยอมที่ดินของจำเลยที่มีแนวเขตด้านทิศเหนือติดต่อกับที่ดินของโจทก์ โดยประเพณีปกติของชาวบ้านที่อยู่ร่วมกันพึ่งพาอาศัยกันยอมให้บุคคลอื่นสัญจรผ่านไปมาบนที่ดินของตนเองได้ ครั้นเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดกำหนดแนวเขตที่ดินตามที่โจทก์และจำเลยถือครองอยู่ จำเลยจึงปักเสารั้วตามแนวเขตที่ดินใหม่ ทำให้โจทก์ไม่ได้สัญจรไปมาได้เหมือนเดิม โจทก์จะมาอ้างเป็นทางภารจำยอมทำให้จำเลยเสียหายไม่ได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ทางพิพาทบริเวณเส้นสีดำที่โจทก์นำชี้เนื้อที่ 24 เศษ หนึ่ง ส่วน สิบ ตารางวา ตามรูปแผนที่เอกสารหมาย ล.5 เป็นทางสาธารณะ ให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไปจากทางสาธารณะดังกล่าว คำขออื่นให้ยก
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะดังนี้ศาลจะวินิจฉัยว่าเป็นทางสาธารณะได้หรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินของโจทก์และจำเลยอยู่ติดกันตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง โดยโจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งมีความกว้าง 2.50 เมตร เข้าออกที่ดินของโจทก์มานานกว่า 10 ปี ไม่มีบุคคลใดคัดค้านต่อมาจำเลยได้รื้อเสารั้วแนวเขตเดิมแล้วนำมาปักไว้ในทางพิพาททำให้ทางพิพาทแคบลงเหลือความกว้างเพียง 1.10 เมตร เป็นเหตุให้โจทก์ใช้รถยนต์ผ่านทางพิพาทเข้าออกที่ดินของโจทก์ไม่ได้ตามปกติขอให้จำเลยรื้อถอนเสารั้วออกไป จากคำบรรยายฟ้องดังกล่าวเห็นว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงสิทธิในการใช้ทางพิพาทโดยปราศจากการขัดขวางมานานกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อจำเลยนำเสารั้วมาปักลงในทางพิพาทขัดขวางทางเข้าออกของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยรื้อเสารั้วออกไปจากทางพิพาทได้ แม้โจทก์จะระบุในคำฟ้องผิดพลาดว่า เป็นทางภารจำยอมก็ไม่ใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้คำฟ้องเสียไป เพราะคำฟ้องเพียงแต่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นก็ใช้ได้แล้ว ส่วนทางพิพาทที่ถูกต้องจะเป็นทางอะไรนั้น เป็นหน้าที่ของศาลจะต้องปรับข้อเท็จจริงเข้ากับตัวบทกฎหมายเอง ดังนั้นแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอม แต่ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นทางสาธารณะ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยว่าทางพิพาทเป็นทางสาธารณะได้ หานอกฟ้องนอกประเด็นไม่”
พิพากษายืน