แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง จ. เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ส. ไม่ได้ทำพินัยกรรมเพราะลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ของ ส. พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับ โดยมิได้คัดค้านว่าขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ประเด็นข้อพิพาทจึงมีเพียงว่าลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมเป็นของ ส. ผู้ตายหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาท ดังนั้น ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์นั้น จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นนี้จึงไม่ชอบเช่นกัน ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ขณะที่ ส. ทำพินัยกรรมนั้น ส. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เมื่อปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ โดยพินัยกรรมฉบับหลัง ส. ระบุให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน จึงต้องบังคับตามพินัยกรรมฉบับหลังที่ระบุให้ จ. เป็นผู้จัดการมรดก
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยเรียกผู้ร้องสำนวนแรกซึ่งเป็นผู้คัดค้านสำนวนที่สองว่า ผู้ร้อง เรียกผู้ร้องสำนวนที่สองซึ่งเป็นผู้คัดค้านที่ 1 สำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกนางบุญเหลือ บัวรี ผู้คัดค้านที่ 2ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 2
สำนวนแรกผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชินกับนางจุรา มีพานิช นายชินเป็นบุตรนางสง่า มีพานิช เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538นางสง่าถึงแก่กรรม โดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องและนางสาวสุภมาสมีพานิช และระบุตั้งนางจุราเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องและทายาทติดต่อขอรับโอนทรัพย์มรดกจากเจ้าหน้าที่แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการให้ แจ้งว่าต้องร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อน นางจุราไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งนางจุราเป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่าผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมฉบับที่ผู้ร้องอ้างไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางสง่า มีพานิช ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นน้องของนางสง่าและได้รับแต่งตั้งโดยพินัยกรรมของนางสง่าลงวันที่ 16 สิงหาคม 2534 ให้เป็นผู้จัดการมรดก ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่า
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม ขอให้ยกคำร้องขอ
สำนวนหลังผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องชายร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนางสง่า มีพานิช เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 นางสง่าถึงแก่กรรมและได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่บุคคลหลายคน โดยตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องได้ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อโอนมรดกให้ทายาทแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่าตามพินัยกรรม
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า พินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม นางสง่าทำพินัยกรรมลงวันที่ 18 ธันวาคม 2536 ยกทรัพย์มรดกให้ผู้คัดค้านและนางสาวสุภมาสมีพานิช และตั้งนางจุรา มีพานิช เป็นผู้จัดการมรดก นางจุราไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายที่จะเป็นผู้จัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งนางจุราเป็นผู้จัดการมรดก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางจุรา มีพานิช เป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่า มีพานิชผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 1
ผู้คัดค้านที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ตั้งนายสิน ทองไข่มุกด์ ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่า มีพานิช ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่ไม่มีฝ่ายใดโต้เถียงในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า นางสง่ามีพานิช ผู้ตาย ทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ พินัยกรรมฉบับแรกลงวันที่ 16 สิงหาคม 2534ให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.ค.2 และพินัยกรรมฉบับหลังลงวันที่ 18 ธันวาคม 2536 ให้นางจุรา มีพานิช เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.9 นางสง่าถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2538 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของผู้ร้องว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 จึงไม่มีผลตามกฎหมายนั้น ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านแต่เพียงว่า พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 ไม่ใช่พินัยกรรมของนางสง่า เนื่องจากลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมดังกล่าวไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางสง่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่า ขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงต้องฟังเป็นยุติว่าขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ว่าขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า คดีสำนวนแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนางจุรา มีพานิช เป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่าตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.9 ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า นางสง่าไม่ได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 เพราะลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9ไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของนางสง่า พินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลใช้บังคับตามกฎหมายผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้คัดค้านว่าขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ดังนั้น ประเด็นข้อพิพาทในสำนวนแรกจึงมีว่าลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 เป็นลายพิมพ์นิ้วมือของนางสง่าหรือไม่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่พิพาท อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ว่า ขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า ขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ จึงไม่ชอบเช่นกัน ข้อเท็จจริงต้องฟังว่า ขณะที่นางสง่าทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 นางสง่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสง่าทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ โดยพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.9 ซึ่งเป็นพินัยกรรมฉบับหลังนางสง่าได้ระบุว่าให้ยกเลิกเพิกถอนพินัยกรรมฉบับที่นางสง่าได้ทำไว้ก่อนแล้วคือให้เพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมายร.ค.2 ดังนั้น จึงต้องบังคับตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.9 ซึ่งระบุให้นางจุราเป็นผู้จัดการมรดกของนางสง่าดังที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไป เพราะไม่ได้ทำให้ผลของการวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวข้างต้นเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น