แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การนั่งพิจารณาคดีของศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กัน เป็นองค์คณะพิจารณา และต้องนั่งพิจารณาติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่สำคัญและจะเลื่อนครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน7 วันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 17และมาตรา 45 วรรคสาม หากโจทก์เห็นว่าศาลแรงงานกลาง มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาอันเป็นการผิดระเบียบ โจทก์ต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วโจทก์จะมาอุทธรณ์ในภายหลังหาชอบไม่ ต้องถือว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว
ย่อยาว
คดีทั้งหกสำนวนศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันโดยเรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 6
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถส่งนักข่าว โจทก์ทั้งหกต้องขับรถในเวลาปกติระหว่างเวลา 7-15 นาฬิกาทุกวันยกเว้นวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ หากจำเลยสั่งให้โจทก์ทั้งหกทำงานหลัง 15 นาฬิกาจนถึงเวลา 7 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้นก็ให้ถือว่าในวันรุ่งขึ้นระหว่างเวลา7-15 นาฬิกา เป็นวันหยุดของโจทก์ทั้งหก ในระหว่างที่ทำงานจำเลยได้สั่งให้โจทก์ทั้งหกทำงานล่วงเวลาคิดเป็นเงินค่าล่วงเวลาที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ทั้งหกไม่น้อยกว่า1 เท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างปกติ ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้างเงินสะสมและเงินโบนัสแก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 86,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 และชำระค่าล่วงเวลากับค่าล่วงเวลาในวันหยุดแก่โจทก์ทั้งหกจำนวน 365,400 บาท 291,336.35 บาท 333,836.80 บาท 436,800 บาท345,252.16 บาท และ 368,940 บาท ตามลำดับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งหก
จำเลยทั้งหกสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งหกเป็นลูกจ้างจำเลย ทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถซึ่งเป็นงานขนส่งคิดค่าล่วงเวลาไม่ได้ จำเลยไม่เคยสั่งให้โจทก์ทั้งหกทำงานล่วงเวลาตามฟ้อง โจทก์ทั้งหกไม่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในวันหยุด การทำงานของโจทก์ทั้งหกไม่เป็นการทำงานนอกเวลาปกติ โจทก์ทั้งหกจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระค่าล่วงเวลา สิทธิเรียกร้องให้ชำระค่าล่วงเวลาขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ในข้อ 2 ก. และ ข.ความว่า ศาลแรงงานกลางดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากบางครั้งไม่มีผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างร่วมนั่งเป็นองค์คณะในการพิจารณาคดีและศาลแรงงานกลางสั่งให้เลื่อนการพิจารณาคดีแต่ละคราวเกิน 7 วันนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การนั่งพิจารณาคดีแรงงานนั้นศาลแรงงานต้องมีผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้างและผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเท่า ๆ กันเป็นองค์คณะพิจารณาและศาลแรงงานต้องนั่งพิจารณาคดีติดต่อกันไปโดยไม่ต้องเลื่อนเว้นแต่มีเหตุจำเป็นที่สำคัญและศาลแรงงานจะเลื่อนคดีครั้งหนึ่งได้ไม่เกิน 7 วันตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 17 และมาตรา 45วรรคสาม ดังนั้น ถ้าโจทก์ทั้งหกเห็นว่าศาลแรงงานกลางมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องในการพิจารณาคดีดังที่ได้อุทธรณ์อันเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ โจทก์ทั้งหกซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่เสียหายจะต้องยื่นคำคัดค้านก่อนมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วันนับแต่วันที่โจทก์ทั้งหกได้ทราบการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 หากข้อเท็จจริงปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกในฐานะคู่ความย่อมได้ทราบเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลแรงงานกลางตลอดมา ซึ่งโจทก์ทั้งหกควรจะคัดค้านเสียภายใน 8 วัน ตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งหกมิได้คัดค้านจนกระทั่งศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาแล้วโจทก์ทั้งหกจะมาอุทธรณ์โต้แย้งในภายหลังหาชอบไม่ต้องถือว่าการพิจารณาคดีของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน