แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๔๖
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับการขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ส่งเรื่องมาให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและรับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น ศาลผู้ส่งความเห็นจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี (เดิมชื่อบิลฟิงเกอร์ พลัส เบอร์เกอร์ บาวอัคเตียนเกเซลชาวฟท์) บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) และวัลเทอร์ เบา เอจี (เดิมชื่อดิคเคอร์ฮอฟฟ์ แอนด์ วิดแมนน์ เอจี) ในนามของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้อ้างว่า ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งชี้ขาดให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินให้แก่ผู้ร้องจำนวน ๓,๓๗๑,๔๔๖,๑๑๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชำระเงินจำนวน ๒,๖๖๘,๔๔๗,๑๔๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๓ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่าไม่อาจปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาและบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่ผู้ร้อง
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยื่นคำคัดค้านว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เนื่องจากสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ผู้ร้อง เป็นสัญญาทางปกครองตามความหมายในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้ จึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ขอให้ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จำหน่ายคดีเพื่อให้ผู้ร้องไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ
ผู้ร้องชี้แจงพร้อมแสดงเหตุผลว่า คดีนี้ควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการไม่เป็นสัญญาทางปกครองตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แต่สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ สัญญาอนุญาโตตุลาการอาจเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลักหรือเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในคดีนี้จึงไม่ใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางเห็นว่า โดยที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการภายหลังจากที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มีผลใช้บังคับแล้ว ดังนั้น การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นการยื่นคำร้องตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ การพิจารณาว่าศาลใดเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ต้องพิจารณาตามมาตรา ๙ ที่บัญญัติว่า “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้ศาลใดศาลหนึ่งเพียงศาลเดียวเท่านั้นที่เป็นศาลที่มีเขตอำนาจ จึงต้องพิจารณาตามลักษณะเนื้อหาแห่งคดี และโดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ได้บัญญัติให้คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ดังนั้น หากปรากฏว่าข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการในกรณีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองย่อมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคำร้องของผู้ร้อง ทั้งนี้ ไม่ว่าสัญญาอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาหลักหรือเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการแยกต่างหากก็ตาม ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีเพียงว่า ข้อพิพาทที่ได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการในกรณีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองหรือไม่ เห็นว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง และทางพิเศษที่สร้างขึ้นในกรอบวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยย่อมเป็นสิ่งสาธารณูปโภคอย่างหนึ่ง เพราะเป็นเครื่องมือโดยตรงที่ใช้สำหรับการบริการสาธารณะที่จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับผู้ร้องจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามบทนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทที่ได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการในกรณีนี้จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคำร้องของผู้ร้องตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ และมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งกรณีนี้คือ ศาลปกครองกลาง
คำวินิจฉัย
การอนุญาโตตุลาการเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทระหว่างคู่กรณีวิธีหนึ่งนอกจากการฟ้องคดีต่อศาล การตกลงระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างคู่กรณีอาจกระทำได้โดยกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาหลักหรือทำเป็นสัญญาแยกต่างหากก็ได้ และต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่มักจะปรากฏอยู่ในสัญญาธุรกิจการค้าของเอกชนทั้งภายในและระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการก็มิได้จำกัดอยู่ แต่สัญญาระหว่างเอกชนหรือสัญญาทางแพ่งเท่านั้น แม้เป็นสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนหรือสัญญาทางปกครองก็อาจกำหนดให้มีการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการได้ ตามที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๑๕ บัญญัติว่า “ในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนไม่ว่าจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทก็ได้ และให้สัญญาดังกล่าวมีผลผูกพันคู่สัญญา”
สำหรับเรื่องนี้เป็นกรณีที่อนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดข้อขัดแย้งระหว่างกิจการร่วมค้า บีบีซีดี และการทางพิเศษแห่งประเทศไทยแล้ว แต่การทางพิเศษแห่งประเทศไทยไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จึงได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
ได้บัญญัติเกี่ยวกับศาลที่มีเขตอำนาจไว้ในมาตรา ๙ ดังนี้ “ให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หรือศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศภาค หรือศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาล หรือศาลที่คู่พิพาทฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น เป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้” บทบัญญัติดังกล่าวแสดงถึงลักษณะการยุติข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการว่า การดำเนินการของอนุญาโตตุลาการต้องกระทำภายใต้อำนาจศาลใดศาลหนึ่ง เนื่องจากอนุญาโตตุลาการไม่ใช่ศาล ไม่อาจใช้อำนาจอย่างศาลได้ แต่ระหว่างดำเนินการอนุญาโตตุลาการ คู่สัญญาหรืออนุญาโตตุลาการอาจต้องขอใช้อำนาจศาลในหลายกรณี เช่น การขอคุ้มครองชั่วคราวการขอหมายเรียก เป็นต้น เมื่อมีกรณีที่คู่สัญญาหรืออนุญาโตตุลาการต้องขอใช้อำนาจศาล ก็จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจ และอาจมีการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลได้ในบางกรณี ซึ่งมาตรา ๔๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ บัญญัติว่า “การอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี”
บทบัญญัติมาตรา ๙ และ ๔๕ วรรคสอง แสดงด้วยว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ มุ่งประสงค์ให้พิจารณาลักษณะเนื้อหาแห่งประเด็นข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญาเป็นสำคัญว่าเป็นคดีแพ่งหรือคดีปกครอง โดยมิได้พิจารณาข้อตกลงเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการแยกออกต่างหากอีกส่วนหนึ่ง หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดมีลักษณะเป็นคดีแพ่ง ศาลที่มีเขตอำนาจ ย่อมได้แก่ ศาลยุติธรรม หากข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใดมีลักษณะเป็นคดีปกครอง ศาลที่มีเขตอำนาจย่อมได้แก่ ศาลปกครอง และหากมีการอุทธรณ์คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลที่มีเขตอำนาจก็ให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาหรือศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณี
ในเรื่องนี้สัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับกิจการร่วมค้า บีบีซีดี เป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายในระดับเดียวกับพระราชบัญญัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีทางพิเศษอันเป็นบริการสาธารณะด้านการคมนาคม สัญญาลักษณะนี้จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยกับกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ข้อ ๑.๕.๑๐ กำหนดไว้ว่า “ถ้ามีข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทใด ๆ เกิดขึ้นระหว่างผู้รับจ้าง (กิจการร่วมค้า บีบีซีดี) และ กทพ. (การทางพิเศษแห่งประเทศไทย) หรือในเรื่องใด ๆ หรือสิ่งใด ๆ ที่เกิดจากหรือที่เกี่ยวกับสัญญา ทั้งสองฝ่ายตกลงให้เสนอข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทนั้นแก่อนุญาโตตุลาการเพื่อพิจารณาชี้ขาด …” อันเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้คู่สัญญาต้องเสนอข้อขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดจากหรือเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่ออนุญาโตตุลาการ การขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้จึงควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
อย่างไรก็ตาม ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายจำเป็นต้องมีศาลที่มีเขตอำนาจตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการเพื่อรองรับการใช้สิทธิทางศาลของบุคคล ตลอดจนช่วยเหลือให้กระบวนการอนุญาโตตุลาการดำเนินต่อไปได้ เช่น การตั้งอนุญาโตตุลาการ การคัดค้านหรือถอดถอนอนุญาโตตุลาการ การออกหมายเรียกคู่พิพาท และการใช้วิธีการชั่วคราว ซึ่งขณะที่เริ่มมีการดำเนินการอนุญาโตตุลาการในเรื่องนี้ (มีการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๔๓) ศาลปกครองยังไม่เปิดทำการ (ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางเปิดทำการวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔) และคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ขอให้ศาลแพ่งออกหมายเรียกพยานของตน ซึ่งศาลแพ่งได้ออกหมายเรียกพยานให้ตามขอทำให้ศาลยุติธรรมได้ใช้อำนาจเหนือข้อขัดแย้งนี้มาแต่เริ่มต้น จึงต้องถือว่าศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตศาลตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ เพื่อให้การตรวจสอบกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจของศาลเดียวกันโดยตลอด ดังนั้น แม้ข้อพิพาทในเรื่องนี้เป็นการขอบังคับให้คู่สัญญาปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอันสืบเนื่องมาจากสัญญาทางปกครอง ก็ต้องให้ศาลยุติธรรมเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ ในทำนองเดียวกับกรณีที่มีการฟ้องคดีปกครองต่อศาลยุติธรรมภายหลัง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ใช้บังคับ แต่ก่อนมีการประกาศให้ศาลปกครองสูงสุดและศาลปกครองกลางเปิดทำการ ตามคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒/๒๕๔๔ ศาลยุติธรรมจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับการร้องขอให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเกี่ยวกับสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา – บางพลี – บางปะกง ระหว่างกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ผู้ร้อง กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ