คำวินิจฉัยที่ 2/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒/๒๕๔๖

วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสงขลา
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสงขลาส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้อง โต้แย้งเขตอำนาจของศาลที่รับฟ้อง ซึ่งศาลที่รับฟ้องเห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน จึงได้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจ แต่ศาลผู้รับความเห็นเห็นว่า คดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ศาลผู้ส่งจึงได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

ข้อเท็จจริงในคดี
วัดท่าเคียน โดยพระปลัดเสน จิณณสาโร (ชุมมิ่ง) ในฐานะเจ้าอาวาส เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ นายสุนทร ประทุมทอง ในฐานะนายอำเภอหาดใหญ่ ที่ ๒ และองค์การบริหารส่วนตำบลควนลัง ที่ ๓ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดสงขลา เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๓๔/๒๕๔๕ ความว่า โจทก์ได้รับการถวายที่ดินจากราษฎรให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ มีเนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ ๑ ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีอาณาเขตทิศเหนือและทิศตะวันตกจดที่ดินของเอกชน ทิศใต้และทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะ โดยโจทก์ได้ครอบครองสำหรับให้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาปฏิบัติศาสนกิจและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ มาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. ๒๔๙๘ และยังได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมา จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง “แปลงป่าช้าวัดท่าเคียน” และร่วมกันรังวัดรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศเหนือ เป็นเนื้อที่ประมาณ ๔-๓-๔๐.๕/๑๐ ไร่ โจทก์ได้ยื่นคำคัดค้านการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของโจทก์ โดยห้ามจำเลยทั้งสามดำเนินการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์และห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไป
ศาลจังหวัดสงขลาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สภาพแห่งคำฟ้องและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักฐานแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ เป็นการกล่าวอ้างว่าหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งหรือการกระทำใด ออกคำสั่งในทางปกครองอันละเมิดต่อโจทก์ ผู้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่พิพาท จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ หรือคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองในการพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ (๓) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่อศาลจังหวัดสงขลา
ศาลปกครองสงขลาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีเป็นหน่วยงานทางปกครองตามความหมายของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และเหตุแห่งการฟ้องคดีเกี่ยวข้องกับการดำเนินการเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เพราะโจทก์ได้คัดค้านว่าที่ดินที่จะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นที่ดินของโจทก์ และโจทก์ได้มาใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตามข้อ ๒ วรรคสอง (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าสิทธิในที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด แม้โจทก์จะมีคำขอห้ามจำเลยออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมาด้วย แต่เมื่อศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งที่สุดเป็นประการใดแล้ว เจ้าพนักงานที่ดิน ก็ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๒ วรรคสอง (๑) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งเรื่องทำนองนี้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลได้มีความเห็นไว้ในคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕ ว่าอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินเป็นของศาลยุติธรรม จากเหตุผลดังกล่าวศาลปกครองสงขลาจึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (ศาลจังหวัดสงขลา)

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่ความโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญโดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามข้อกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่ความต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชน ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัย
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่วัดท่าเคียน โดยพระปลัดเสน จิณณสาโร (ชุมมิ่ง) ในฐานะ
เจ้าอาวาส เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ นายสุนทร ประทุมทอง ในฐานะนายอำเภอหาดใหญ่ ที่ ๒ และองค์การบริหารส่วนตำบลควนลัง ที่ ๓ เป็นจำเลย อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดสงขลา

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share