แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๓/๒๕๔๖
วันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดยโสธร
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง แต่เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด
ข้อเท็จจริงในคดี
นายสุพรรณ เสนสุข ได้ยื่นฟ้องนายสมบัติ กนกอนันทกุล ในฐานะนายอำเภอมหาชนะชัย ที่ ๑ และนายนิยม พิจารณ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทราย ที่ ๒ ต่อศาลจังหวัดยโสธรเป็นคดีหมายเลขดำที่ ม. ๘๖๗/๒๕๔๕ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิเกี่ยวกับที่ดิน ตั้งอยู่ที่บ้านโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เนื้อที่ประมาณ ๒ งานเศษ โจทก์ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากนางสมพงษ์ พลคำ โดยไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน และได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า ๑ ปี โดยมีเจตนาเป็นเจ้าของไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือรบกวนการครอบครองทำกินจนได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย แต่เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๕ จำเลยที่ ๑ ในฐานะนายอำเภอมหาชนะชัย ได้ขอให้อธิบดีกรมที่ดินออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลงที่ดินหนองอำเภอ หมู่ที่ ๑ ตำบลโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน โดยมอบหมายให้จำเลยที่ ๒ ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทราย เป็นผู้นำชี้และระวังแนวเขตที่สาธารณประโยชน์ ตลอดจนทำการแทนในฐานะผู้ปกครองท้องที่ แต่การนำชี้รังวัดของจำเลยที่ ๒ ได้นำชี้รังวัดทับที่ดินของโจทก์ทั้งแปลง โดยอ้างว่าที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์แปลงหนองอำเภอ โจทก์ จึงได้ทำการคัดค้านการรังวัดดังกล่าวและต่อมาได้ยื่นคำขอคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขามหาชนะชัย ได้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านไปใช้สิทธิทางศาลภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่คัดค้าน การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองของโจทก์ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปยกเลิกคำขอรังวัดออกหนังสือสำคัญที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
ศาลจังหวัดยโสธรมีคำสั่งว่า คดีนี้เป็นเรื่องโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจ คืนคำฟ้องให้ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจและคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ๗๑๗/๒๕๔๕
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงนั้นจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา ๘ ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบกับกฎกระทรวงฉบับที่ ๒๖ (พ.ศ. ๒๕๑๖) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ โดยความในข้อ ๒ วรรคสอง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๕ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่มีผู้คัดค้านให้อธิบดีรอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไว้แล้วดำเนินการดังนี้ (๑) ในกรณีที่ผู้คัดค้านไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินและไม่ไปใช้สิทธิทางศาลภายในหกสิบวันนับแต่วันที่คัดค้าน ให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงได้ หากผู้คัดค้านไปใช้สิทธิทางศาล ให้รอการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเฉพาะส่วนที่คัดค้านจนกว่าจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลแสดงว่าผู้คัดค้านไม่มีสิทธิในที่ดินนั้น …” ปรากฏว่า คดีนี้เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามคำขอของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงมหาดไทยให้เป็นผู้ขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำรังวัดทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีเต็มทั้งแปลง เห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำเจ้าหน้าที่ทำการรังวัดนั้น ก็เพื่อให้ทราบว่าที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแห่งนี้มีอาณาเขตอย่างไร ซึ่งมีความหมายว่า ที่ดินที่อยู่ในเขตนั้นเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินหาใช่เป็นที่ดินของเอกชนไม่ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีคัดค้านการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงจึงเป็นการโต้แย้งว่าที่ดินบริเวณพิพาทเป็นสิทธิของตนหาใช่เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ คดีนี้เป็นคดีพิพาทในเรื่องสิทธิในที่ดินซึ่งศาลจะต้องพิจารณาพิพากษาว่า ใครมีสิทธิในที่ดินนั้นตามกฎกระทรวงดังกล่าวข้างต้น โดยจะต้องพิจารณาให้ได้ความว่าผู้ฟ้องคดีมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินหรือไม่ อย่างไร จำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของเอกชนอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้นท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น” บทบัญญัติมาตรานี้กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษ
สำหรับคดีนี้คู่กรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาทว่า เป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสำคัญ โดยไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลคงมีประเด็นต้องพิจารณาให้ได้ความเพียงว่า ที่ดินนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทระหว่างคู่กรณีต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
“มาตรา ๑๓๐๔ สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดิน ซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น
(๑) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่น ตามกฎหมายที่ดิน
(๒) ทรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ”
การพิจารณาสิทธิในที่ดินพิพาทคดีนี้ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณีและพยานหลักฐานการใช้ประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่บ้านโนนทราย หมู่ที่ ๑ ตำบลโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น คดีที่เป็นประเด็นโดยตรงเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม เมื่อการขอออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีการโต้แย้งสิทธิ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินจึงได้แก่ ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๘/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายสุพรรณ เสนสุข ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องนายสมบัติ กนกอนันทกุล ในฐานะนายอำเภอมหาชนะชัย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และนายนิยม พิจารณ์ ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลโนนทราย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดยโสธร
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สมัยรบ สุทวาทนฤพุฒิ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ