แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๒๕/๒๕๔๖
วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๖
เรื่อง การยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐
การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
นายถ้วน พานทอง ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาลกรณีศาลแพ่งและศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ นายถ้วน พานทอง (ผู้ร้อง) ได้ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานครต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๐๗๕/๒๕๔๕ (คดีหมายเลขแดงที่ ๖๔๒๑/๒๕๔๕) เกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งจะถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอยานนาวา อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร อำเภอบางขุนเทียน อำเภอธนบุรี อำเภอบางกอกน้อย อำเภอตลิ่งชัน อำเภอภาษีเจริญ กิ่งอำเภอหนองแขม จังหวัดธนบุรี อำเภอบางกรวย อำเภอบางใหญ่ อำเภอบางบัวทอง อำเภอเมืองนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร อำเภอสามพราน อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งต่อมาได้มีการออกประกาศคณะปฏิวัติและพระราชกฤษฎีกาเพื่อขยายอายุพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอีก ๓ ฉบับ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๗ หมดอายุบังคับใช้วันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ผู้ร้องยินยอมให้กรุงเทพมหานครสร้างถนนผ่านที่ดินของตน โดยมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและมิได้รับเงินทดแทนจากกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงฟ้องคดีเพื่อเรียกเงินทดแทนจากกรุงเทพมหานครอันเนื่องมาจากการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย ๑ ผ่านที่ดินของผู้ร้อง แต่ศาลแพ่งเห็นว่า คดีสืบเนื่องมาจากมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินฯ กำหนดให้จำเลยเป็นเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการเวนคืนที่ดินใช้ในการสร้างถนนพุทธมณฑลสาย ๑ อันเป็นการใช้อำนาจรัฐ เพื่อดำเนินการไปสู่การบังคับการเวนคืนที่ดินใช้ในการก่อสร้างถนนซึ่งเป็นสิ่งสาธารณูปโภคที่ประชาชนเป็นผู้ใช้และได้รับประโยชน์โดยตรง อันมีลักษณะเป็นการจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคจนเกิดเป็นข้อพิพาทกันขึ้นกับโจทก์ โดยข้อพิพาทของคู่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยลักษณะนี้เป็นการพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ฉะนั้น อำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีในลักษณะนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๒/๒๕๔๕ และศาลปกครองได้เปิดทำการแล้วตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ เป็นต้นมา ศาลแพ่งมีคำสั่งในวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕ อันเป็นเวลาภายหลังศาลปกครองเปิดทำการโดยผิดหลงให้รับฟ้องคดีของโจทก์ไว้พิจารณา จึงอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ ให้เพิกถอนคำสั่งโดยผิดหลงตั้งแต่การรับฟ้องของโจทก์เป็นต้นมาทั้งหมดนั้นเสียและมีคำสั่งใหม่ว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลปกครอง จึงไม่รับฟ้องคดีของโจทก์
ผู้ร้องจึงยื่นฟ้องคดีในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ต่อศาลปกครองกลางเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๖ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๒๕/๒๕๔๖ โดยมิได้บรรยายฟ้องหรือแถลงให้ศาลทราบถึงการที่ศาลแพ่งไม่รับคำฟ้องคดีนี้ ซึ่งต่อมา เมื่อศาลปกครองกลางได้ตรวจพิจารณาคำฟ้องและข้อเท็จจริงในคดีแล้วได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากเห็นว่าข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ผู้ฟ้องคดี (ผู้ร้อง) ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินทดแทนที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีในราคาตารางวาละ ๓๕,๐๐๐ บาท และอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าก่อสร้างไปพลางก่อนได้ โดยผู้ฟ้องคดีสงวนสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าทดแทนที่ดินในราคาปัจจุบันเต็มทั้งจำนวนของเนื้อที่ดินทั้งหมด การที่ผู้ถูกฟ้องคดีเข้าทำการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย ๑ ในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผลมาจากการให้ความยินยอมของผู้ฟ้องคดีและเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนหมดอายุการใช้บังคับแล้ว ดังนั้น คดีนี้จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมิใช่ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๒๒/๒๕๔๕ ที่ ๒๓/๒๕๔๕ และที่ ๒๗/๒๕๔๕ ศาลปกครองกลางไม่มีอำนาจรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ผู้ร้องได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองกลางตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้แล้ว
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คำร้องของผู้ร้องชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ หรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใดแต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว หากศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม” ดังนั้น คดีที่จะมีการขัดแย้งอำนาจหน้าที่กันระหว่างศาลในกรณีนี้จะต้องเป็นกรณีที่คู่ความผู้ฟ้องคดีนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลหนึ่งและศาลนั้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ต่อมาคู่ความผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีที่มีข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ไปฟ้องต่อศาลอีกศาลหนึ่งและศาลในคดีหลังนี้ก็มีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน ข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้ร้องนำคดีไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งแล้วและศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ผู้ร้องจึงนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองกลางโดยมิได้บรรยายฟ้องหรือแถลงให้ศาลทราบถึงการที่ตนได้นำคดีไปฟ้องที่ศาลแพ่งมาก่อนแล้ว ต่อมาศาลปกครองกลางก็มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องเช่นกัน เพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของตน โดยมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะไม่ทราบเรื่องที่ผู้ร้องเคยยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งมาก่อน จากนั้นผู้ร้องจึงอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง ดังนั้น กรณียังเป็นการไม่แน่ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งเช่นไร จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการที่ศาลอีกศาลหนึ่งไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจตนเช่นกัน อันจะเป็นการขัดแย้งกันในเรื่องเขตอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง
ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยตรงต่อคณะกรรมการก็มิใช่เป็นการยื่นตามมาตรา ๑๔ ประกอบมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะการยื่นคำร้องตามมาตราดังกล่าวนี้จะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดขัดแย้งกันและเป็นเรื่องคำพิพากษาหรือคำสั่งในเรื่องอื่นที่มิใช่เกี่ยวกับเรื่องเขตอำนาจศาล
จึงมีคำสั่งว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๘ ให้ยกคำร้องนี้เสีย
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฏฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฏฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ