คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1342/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนซึ่งโจทก์ฟ้อง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ม.เป็นจำเลย ศาลได้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของ ม.เป็นการวินิจฉัยถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของ ม. คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีก่อน เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วการที่โจทก์มาฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของ ม. และมีสิทธิรับมรดกของ ม.ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินพิพาท โดย มิได้แสดงสิทธิอื่นขึ้นใหม่ จึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 และแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้เป็นทายาทของ ม. แต่จำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีโดย อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2จึงเป็นคำให้การที่อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 ได้ปลูกบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินมือเปล่าของโจทก์ ต่อมา พ.ศ. 2529 โจทก์ได้ขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันไปคัดค้านว่าโจทก์นำช่างแผนที่ของสำนักงานที่ดินไปรังวัดรวมเอาที่ดินของจำเลยทั้งสองเข้ากับที่ดินของโจทก์ด้วย โดย จำเลยทั้งสองอ้างว่าได้รับยกให้ที่ดินที่โจทก์ขอออกโฉนดมาจากนายมิ้น บุดดีตุ้ย บิดาของจำเลยทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองห้ามรบกวนการครอบครองและแย่งการครอบครองที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 กับบริวารรื้อเรือนออกไปจากที่ดินของโจทก์ ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กับบริวารยังไม่รื้อเรือนออกไปให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อปี 2509 นายมิ้ม บุดดีตุ้ยซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 และเป็นบิดาของจำเลยที่ 2 ได้ยกที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองเพื่อเป็นที่ปลูกเรือนโดย ให้เป็นเจ้าของร่วมกันจำนวน 1 แปลงเดิมที่ดินแปลงนี้มีหลักฐานคือ ส.ค.1 เลขที่ 180หมู่ที่ 2(6) ตำบลท่าพระ (ดอนหัน) อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น มีชื่อนางทุ่ง บุดดีตุ้ย มารดาของนายมิ้มเป็นเจ้าของ เมื่อนางทุ่งถึงแก่กรรมจึงเป็นมรดกตกได้แก่นายมิ้มผู้เป็นบุตร หลังจากนายมิ้มยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองทำประโยชน์เพื่อตนเองและแทนจำเลยที่ 2 โดย สงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดย ปลูกบ้านและยุ้งข้าวครอบครองติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีแล้ว โดย ไม่มีผู้ใดโต้แย้งสิทธิของจำเลยทั้งสอง เมื่อปี 2520 โจทก์ได้ฟ้องนายสูน บุดดีตุ้ย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมิ้มผู้ถึงแก่กรรมเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 294/2520 ของศาลชั้นต้นว่า ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 180 ดังกล่าวเป็นของโจทก์โจทก์ได้รับยกให้มาจากนางทุ่งเมื่อปี 2502 ไม่ใช่มรดกของนายมิ้ม จำเลยในคดีดังกล่าวให้การว่านางทุ่งเป็นมารดาของนายมิ้มและนายมิ้มเป็นบิดาของจำเลย ที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 180 เป็นของนางทุ่ง เมื่อนางทุ่งถึงแก่กรรมที่ดินจึงเป็นมรดกตกได้แก่นายมิ้ม บิดาจำเลย นางทุ่งไม่เคยยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ คดีถึงที่สุด โดย ศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์โดย วินิจฉัยว่า ระหว่างที่นางทุ่งมีชีวิตอยู่ไม่ได้ยกทรัพย์สินของตนให้แก่ผู้ใดเมื่อนางทุ่งถึงแก่กรรมทรัพย์สินของนางทุ่งทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นมรดกตกได้แก่นายมิ้มผู้เป็นบุตร เมื่อนายมิ้มถึงแก่กรรมทรัพย์สินของนายมิ้มทั้งหมดรวมทั้งที่ดินพิพาทตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายมิ้ม โจทก์มีฐานะเพียงผู้อาศัยทำมาหากินอยู่กับทรัพย์ของนายมิ้มร่วมกับนายมิ้มเท่านั้นหามีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์ของนายมิ้มไม่ คดีก่อนกับคดีนี้เกี่ยวกับจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นบุตรของนายมิ้มจึงเป็นคู่ความรายเดียวกัน ที่ดินพิพาทแปลงเดียวกันและประเด็นพิพาทก็อ้างเหตุเดียวกันจึงเป็นฟ้องซ้ำขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์และจำเลยทั้งสองแถลงรับกันว่าที่ดินพิพาท คือที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 180 ซึ่งเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 294/2520 ของศาลชั้นต้น ระหว่างนางหนูเล็กคำสอนทา โจทก์ นายสูน บุดดีตุ้ย ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมิ้ม บุดดีตุ้ย จำเลย คดีถึงที่สุดแล้ว และโจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 เป็นบุตรนายมิ้ม ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นน้องสาวนายมิ้มจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ จึงสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 180 ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าพระ (ดอนหัน) อำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น ที่ดินพิพาทแปลงนี้ โจทก์เคยฟ้องนายสูน บุดดีตุ้ยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายมิ้ม บุดดีตุ้ย เป็นจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ผลของคดีถึงที่สุดไปแล้วปรากฎตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 ที่วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายมิ้ม ตกทอดได้แก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดกส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนายมิ้ม
มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาสรุปได้เป็นความว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 180 แต่เป็นที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 593ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 593 พร้อมบ้านเลขที่58 กับยุ้งข้าว 1 หลัง และที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 181 ไม่ใช่เป็นทรัพย์มรดกของนายมิ้ม ดังรายละเอียดในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2811/2526 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าแม้ในคำบรรยายฟ้องของโจทก์จะกล่าวอ้างเพียงว่า จำเลยทั้งสองไปคัดค้านการขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น โดย ไม่ระบุว่าเป็นที่ดินที่มีหลักฐานแสดงถึงสิทธิการครอบครองแปลงใดก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองก็ให้การว่าที่ดินพิพาทแปลงที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นที่ดินตาม ส.ค.1เลขที่ 180 ตำบลท่าพระ (ดอนหัน) อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นคำให้การของจำเลยทั้งสองดังกล่าว โจทก์ไม่ปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่น แต่กลับแถลงรับในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2530 ว่าที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน เลขที่ 180 เป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีหมายเลขแดงที่ 294/2520 ซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522 ดังนั้น ที่โจทก์ฎีกาในลักษณะว่าที่ดินพิพาทในคดีเป็นที่ดินที่ตั้งบ้านเลขที่ 58 และยุ้งข้าว1 หลัง ทำนองว่าเป็นที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 593 ไม่ใช่ที่ดินตาม ส.ค.1 เลขที่ 180 จึงขัดกับข้อเท็จจริงที่โจทก์แถลงรับในคดี และโจทก์จะฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงอื่นนอกจากที่ดินแปลงที่พิพาทกันไม่ได้ เมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินพิพาทในคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2522ซึ่งวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายมิ้ม จึงเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงความเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มที่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีเดิม เมื่อโจทก์ไม่ได้แสดงสิทธิอื่นขึ้นใหม่ โจทก์จะนำคดีมาฟ้องจำเลยที่ 2 บุตรของนายมิ้มซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมลำดับที่ 1ชั้นผู้สืบสันดาน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629ผู้มีสิทธิรับมรดกของนายมิ้มขอให้ขับไล่จำเลยที่ 2 ออกจากที่ดินพิพาทไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148 ส่วนจำเลยที่ 1 ต่อสู้คดีโดย อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นคำให้การที่อาศัยสิทธิของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1พิพากษามานั้น ชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share