คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้การลงหมายเลขสมาชิกสหกรณ์ในใบเสร็จรับเงินสด จะมีผลให้พี่สาวโจทก์เจ้าของหมายเลขสมาชิกได้รับเงินปันผล หรือเงินเฉลี่ยคืน แต่เงินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัทจำเลย บริษัทจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินนี้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ ของที่ซื้อจากร้านสหกรณ์ก็ได้นำไปใช้ในบริษัทจำเลยทั้งสิ้น ไม่มีผู้ใดนำไปใช้ส่วนตัว ทั้งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไปไม่ทำให้ บริษัทจำเลยเสียหายจากการซื้อสินค้านั้น ดังนั้น การที่บริษัทจำเลย ให้โจทก์ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นหาเป็นการละเมิดตามกฎหมายไม่ หากแต่เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะกระทำได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 การกระทำละเมิดอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานนั้นต้องสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงานหรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน คดีนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำการอย่างใดอันจะเป็นการละเมิดเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ฉะนั้น ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 8(5) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน ฯ
จำเลยอุทธรณ์เรื่องจำนวนค่าชดเชยว่าคำนวณไม่ถูกต้อง ข้ออุทธรณ์นี้จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้ว และศาลก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกขึ้นพิจารณาและการคำนวณค่าชดเชยนั้นยังโต้เถียงกันอยู่ศาลฎีกาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้แล้ว พิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งสมุหบัญชีนอกจากนี้ยังได้รับมอบหมายให้จัดหาซื้อเครื่องใช้และสิ่งของบางอย่างที่ใช้ในบริษัทจำเลย ส่วนใหญ่โจทก์ซื้อหรือมอบให้พนักงานไปซื้อจากร้านสหกรณ์กรุงเทพเพราะเห็นว่าจำหน่ายสินค้าในราคายุติธรรม เนื่องจากบริษัทจำเลยมิได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ โจทก์จึงใส่เลขสมาชิกของพี่สาวโจทก์ในการซื้อสิ่งของ ซึ่งจำเลยก็ทราบดี เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๒๔ โจทก์ทำหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการแจ้งถึงการทำงานไม่ถูกต้องของจำเลยที่ ๒ ผู้จัดการทั่วไปในบริษัทจำเลยที่ ๑ เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๒ เจ็บแค้นโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือจากจำเลยที่ ๒ กล่าวหาว่าการจัดซื้อเครื่องใช้และสิ่งของจากร้านสหกรณ์กรุงเทพ โจทก์ได้ส่วนลด ต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่าโจทก์เจตนาและตัดสินใจเองที่จัดซื้อสิ่งของต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ ๑ จากร้านสหกรณ์กรุงเทพโดยใช้วิธีให้ส่วนลดที่จะได้ตกอยู่ในบัญชีของพี่สาวโจทก์ เป็นการขัดกับการกระทำตามหน้าที่อันควรและถูกต้องในฐานะเป็นสมุหบัญชี และเห็นว่าการกระทำของโจทก์น่าจะถูกไล่ออกทันที แต่จำเลยทั้งสองมิได้มีอคติจึงจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ ๓ เดือน และแจ้งว่าโจทก์ไม่ต้องมาทำงานอีกต่อไป การที่โจทก์ซื้อเครื่องใช้และสิ่งของต่าง ๆ ให้บริษัทจำเลยจากร้านสหกรณ์กรุงเทพ โจทก์กระทำไปด้วยเจตนาสุจริต มิได้ทุจริตเบียดบังทรัพย์สินของบริษัทจำเลยหรือทำให้บริษัทจำเลยเสียหาย จำเลยที่ ๒ ยกเหตุนี้มาอ้างเพื่อเลิกจ้างโจทก์เพราะโกรธเคืองที่โจทก์ทำบันทึกถึงกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ ๒ ต้องการนำพวกของตนเข้ามาทำหน้าที่แทนโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติยศถูกดูหมิ่นเกลียดชังจากเพื่อนพนักงาน ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ รับโจทก์กลับเข้าทำงาน ในตำแหน่ง อัตราเงินเดือนเดิม โดยให้รับเงินเดือนติดต่อกันตลอดมานับแต่วันที่จำเลยที่ ๒ ไม่ให้โจทก์ไปทำงาน ถ้าโจทก์ไม่ได้กลับเข้าทำงานให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจ่ายเงินชดเชยให้โจทก์ ๖ เดือน จ่ายค่าเสียหายในระหว่างที่โจทก์ยังไม่ได้ทำงาน จ่ายค่าเสียหายต่อเกียรติยศชื่อเสียงของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อสิ่งของจากร้านสหกรณ์กรุงเทพทั้ง ๆ ที่มีร้านสหกรณ์พระนครอยู่ใกล้ที่ทำงานของจำเลยที่ ๑ กว่า โดยมีเจตนาพิเศษหวังผลประโยชน์คือเงินปันผลให้พี่สาวของโจทก์ ถือว่าเป็นการกระทำทุจริต จำเลยที่ ๒ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือเจ็บแค้นโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ ๒ แจ้งให้โจทก์หยุดการกระทำดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ยอมเลิก เป็นการขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยทั้งสอง การกระทำของโจทก์ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นการกระทำผิดอาญาฐานยักยอก จงใจทำให้บริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยที่ ๒ ในนามจำเลยที่ ๑ เลิกจ้างโจทก์โดยชอบ จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามที่ฟ้องเรียกมา อย่างไรก็ตามจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เท่ากับเงินเดือน ๒ เดือน หากโจทก์เสียชื่อเสียงก็ไม่มีสิทธิฟ้องที่ศาลนี้ซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีแรงงาน หากจำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยก็ขอให้หักค่าชดเชยจำนวน ๒ เดือนออกด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่บริษัทจำเลยให้โจทก์ออกจากงานเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์และบริษัทจำเลยไม่ควรได้ทำงานร่วมกันต่อไป จึงให้บริษัทจำเลยจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์แทนการที่จะให้บริษัทจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน การที่บริษัทจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดนับว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติยศอีกด้วย พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายในการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ค่าเสียหายในการทำละเมิดต่อโจทก์ และค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๖ เดือนแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า แม้การลงหมายเลขสมาชิกสหกรณ์กรุงเทพในใบเสร็จรับเงินสดจะมีผลให้พี่สาวโจทก์เจ้าของหมายเลขสมาชิกได้รับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน แต่เงินดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของบริษัทจำเลยบริษัทจำเลยไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินปันผลหรือเงินเฉลี่ยคืน เพราะบริษัทจำเลยไม่ได้เป็นสมาชิกสหกรณ์ และสิ่งของเครื่องใช้ที่ซื้อจากร้านสหกรณ์กรุงเทพก็ได้นำไปใช้ในบริษัทจำเลยทั้งสิ้น และมีราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ไม่มีช่องทางใดที่โจทก์จะแสวงหาประโยชน์จากราคาสินค้านั้นได้ ไม่ทำให้บริษัทจำเลยเสียหายจากการซื้อสินค้านั้นประกอบทั้งเมื่อจำเลยที่ ๒ พบเห็นว่ามีการลงหมายเลขสมาชิกของคนอื่นในการซื้อสิ่งของเครื่องใช้ให้แก่บริษัทก็มิได้ห้ามปราม เช่นนี้ การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ และไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของจำเลยที่ ๒ รวมทั้งไม่เป็นการผิดวินัยตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทจำเลย และไม่เป็นการจงใจทำให้บริษัทจำเลยได้รับความเสียหาย การที่บริษัทจำเลยให้โจทก์ออกจากงานด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่มีความผิด เป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม
การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้น หาเป็นการละเมิดตามกฎหมายไม่ หากแต่เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะกระทำได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๒ และการละเมิดต้องสืบเนื่องมาจากข้อพิพาทแรงงาน หรือเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่กรณีคดีนี้มิใช่สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งหมายถึงมีการละเมิดอันสืบเนื่องจากการที่มีข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และก็มิใช่การละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน เพราะไม่ปรากฏว่าจำเลยได้มีการกระทำอย่างใดอันจะเป็นการละเมิดเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ ฉะนั้น ศาลแรงงานกลางจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา ๘ (๕) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ
อนึ่งคดีนี้เกี่ยวกับเรื่องจำนวนค่าชดเชย จำเลยอุทธรณ์ด้วยว่าการคำนวณไม่ถูกต้อง จำเลยได้จ่ายเงินแก่โจทก์เป็นเงินเดือน ๒ เดือน เมื่อตอนโจทก์ออกจากงาน ซึ่งหากโจทก์จะได้รับเงินค่าชดเชยก็ต้องนำมาหักให้ด้วย ข้ออุทธรณ์นี้จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีไว้แล้วว่า เงินที่จำเลยจ่ายเป็นเงินเดือน ๒ เดือน เป็นค่าชดเชยพิเศษขอให้หักออก และศาลก็ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้แล้วว่า โจทก์มีสิทธิเรียกค่าชดเชยหรือไม่เพียงใด แต่ศาลแรงงานกลางมิได้หยิบยกขึ้นพิจารณา ในการคำนวณค่าชดเชยนั้นยังโต้เถียงกันอยู่ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นข้อนี้
พิพากษาแก้ เป็นให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องจำนวนค่าชดเชย ให้ดำเนินการพิจารณาในประเด็นดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี และให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยชำระค่าเสียหายในการละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติยศ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share