แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 12 ประมวลรัษฎากร เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องคำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระทั่งถึง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 287 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อกฎหมายให้อำนาจไว้ถึงขนาดนี้แล้ว แม้ผู้ร้อง (เจ้าพนักงานซึ่งเป็นเจ้าหนี้ค่าภาษีอากรค้าง) จะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีสิทธิที่จะขอเข้าเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 ได้ (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 14/2518)
ย่อยาว
เดิมโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินค่าซื้อเชื่อสินค้า ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินโจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำเลย
กรมสรรพากรและผู้ว่าราชการนครหลวงกรุงเทพธนบุรียื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระค่าภาษีการค้าเป็นเงิน ๘๐๘,๒๓๐ บาท ผู้ร้องทั้งสองได้แจ้งให้จำเลยชำระเงินดังกล่าว แต่จำเลยไม่ชำระ จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดพอชำระหนี้ และผู้ร้องทั้งสองไม่อาจดำเนินการตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ ได้ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้ก่อนแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งยอมให้ผู้ร้องทั้งสองเข้าเฉลี่ยในเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐
โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า หนี้ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างนับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นเวลากว่า ๓ ปีแล้ว ไม่ใช่หนี้ค่าภาษีอากรในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง จึงมิใช่หนี้บุริมสิทธิทั้งผู้ร้องทั้งสองก็มิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอน จึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ทนายผู้ร้องส่งสำเนาแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าของจำเลย กับส่งคำอุทธรณ์ของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งแสดงรายการภาษีค้างชำระของจำเลยไว้โดยละเอียด ทนายโจทก์ไม่คัดค้านเอกสารดังกล่าว
ศาลชั้นต้นงดการไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า หนี้ของผู้ร้องไม่ใช่หนี้ตามคำพิพากษาและไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิหรือสิทธิอื่น ๆ ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินของจำเลยได้ตามกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ย ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องขอเฉลี่ยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องขอเฉลี่ยทั้งสองฎีกาว่า แม้หนี้รายนี้จะไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ และไม่ใช่หนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องก็มีสิทธิขอเฉลี่ย
ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยเป็นหนี้ค้างชำระค่าภาษีการค้าซึ่งจะต้องชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองตามคำร้อง ผู้ร้องทั้งสองมิได้ดำเนินการตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๒ เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดทรัพย์ของจำเลยไว้
ปัญหาที่ว่า ผู้ร้องซึ่งมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะมีสิทธิขอเฉลี่ยตามคำร้องได้หรือไม่นั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในเรื่องค่าภาษีอากรซึ่งต้องเสียตามประมวลรัษฎากรนั้น ประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๒ บัญญัติไว้ว่า “……………….ฯลฯ…………………เพื่อให้ได้รับชำระค่าภาษีอากรค้างให้เป็นอำนาจของข้าหลวงประจำจังหวัดหรือนายอำเภอโดยเฉพาะที่จะสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ต้องรับผิดเสียภาษีอากร โดยมิต้องขอให้ศาลออกหมายยึดหรือสั่ง…………….ฯลฯ…………ดังนี้เห็นว่า บทบัญญัติมาตรานี้เป็นกฎหมายพิเศษให้อำนาจแก่เจ้าพนักงานที่จะเรียกเก็บภาษีอากรค้างได้โดยสั่งยึดและสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินได้เองโดยไม่จำต้องนำคดีขึ้นฟ้องร้องต่อศาล สิทธิของผู้ร้องตามประมวลรัษฎากร จึงถือได้ว่าเป็นสิทธิอื่น ๆ ซึ่งบุคคลภายนอกอาจขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นได้ตามกฎหมาย ซึ่งบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นย่อมไม่กระทบกระทั่งถึง ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๘๗ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อกฎหมายให้อำนาจแก่ผู้ร้องไว้โดยเฉพาะถึงขนาดนี้แล้ว แม้ผู้ร้องจะมิได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ผู้ร้องก็มีสิทธิที่จะขอเข้าเฉลี่ยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๐ ได้
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยได้ตามคำร้อง.