คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13381/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งตามที่โจทก์อ้างนั้นนำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเวลาหลายปี จึงทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมาก โจทก์จึงนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาทั้งหมดไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระในคราวเดียวกันได้ การหักชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด และการที่โจทก์มิได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระอีก 3 ครั้ง ไปหักชำระหนี้เกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลทางบัญชีหรือในการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอันเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยมากกว่าที่จะมีเจตนาเอาเปรียบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแจกแจงรายละเอียดการคิดคำนวณ เพื่อให้เห็นว่าได้มีการหักชำระหนี้กันอย่างไรอันเป็นการอธิบายให้เห็นถึงรายละเอียดการคำนวณมิใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 253,281.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 113,213.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนางจันทิรา บุตรของจำเลยที่ 2 เข้าเป็นคู่ความแทน พิเคราะห์แล้ว ฟังได้ว่านางจันทิราเป็นทายาทของจำเลยที่ 2 ผู้มรณะจึงอนุญาตให้นางจันทิราเข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาตลาดหัวอิฐ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์จำนวนเงิน 30,000 บาท ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน หากผิดนัดยอมให้นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินได้และชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 20 มีนาคม 2533 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 เดินสะพัดทางบัญชีกับโจทก์จนครบกำหนดอายุสัญญาแล้ว ยังคงเดินบัญชีกับโจทก์ตลอดมา โดยสั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2534 โจทก์หักทอนบัญชีปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 113,213.21 บาท
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2534 ต้นเงิน 113,213.21 บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ 41 ครั้ง เป็นเงิน 117,621.72 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้าง 257,690.32 บาท แล้ว คงเหลือดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 140,068.60 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ย 253,281.81 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ไม่เกิน 5 ปี และจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์มากกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระ โจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์โดยแสดงวิธีคำนวณนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงิน คงเหลือต้นเงินค้างชำระ 37,247.10 บาท และดอกเบี้ย 17,623.45 บาท รวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์จำนวน 54,871.55 บาท การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์เป็นไปโดยสุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า ในวันหักทอนบัญชี ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2534 จำเลยที่ 1 ค้างชำระต้นเงินแก่โจทก์จำนวน 113,213.21 บาท ตรงตามที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดี ส่วนที่แตกต่างกันคือ จำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระ โดยโจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 41 ครั้ง เป็นเงิน 117,621.72 บาท ขณะที่จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์ 44 ครั้ง เป็นเงิน 217,799.72 บาท ซึ่งคิดคำนวณแล้วปรากฏว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งดังที่โจทก์อ้างนั้น สามารถนำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้แก่โจทก์เป็นเวลาหลายปี ทำให้มีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้โจทก์จึงนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระมาทั้งหมดไปหักออกจากดอกเบี้ยที่ค้างชำระในคราวเดียว เพราะจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระในแต่ละครั้งสามารถหักชำระดอกเบี้ยได้เพียงบางส่วน ไม่มีส่วนที่เหลือที่จะนำไปหักชำระต้นเงินได้ การหักชำระหนี้ของโจทก์ไม่ได้ฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 329 วรรคหนึ่ง แต่ประการใด ทั้งปรากฏว่านอกจากการชำระเงินทั้ง 41 ครั้งตามฟ้องแล้ว จำเลยที่ 1 ยังชำระเงินให้โจทก์อีก 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 จำนวนเงิน 2,000 บาท และ 96,178 บาท และวันที่ 29 กันยายน 2543 จำนวนเงิน 2,000 บาท โดยที่การชำระเงินในวันที่ 23 พฤษภาคม 2538 รวม 98,178 บาท สามารถนำไปหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างได้ทั้งหมด กับหักชำระต้นเงินได้บางส่วน มีผลทำให้การชำระเงินในครั้งต่อ ๆ มาของจำเลยที่ 1 เป็นการชำระต้นเงินด้วย ยอดต้นเงินและดอกเบี้ยที่ค้างชำระ จึงลดลงต่ำกว่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาก โจทก์ก็ได้ยื่นอุทธรณ์แสดงวิธีการคำนวณที่ถูกต้อง โดยนำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระทั้ง 44 ครั้ง ไปหักชำระจากดอกเบี้ยที่ค้างก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำไปหักชำระต้นเงินแนบมาท้ายอุทธรณ์คิดเป็นทุนทรัพย์ 54,871.55 บาท โดยไม่ปรากฏว่าการที่โจทก์มิได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระทั้ง 3 ครั้ง ไปหักชำระหนี้เกิดจากความไม่สุจริตหรือมีเจตนาเอาเปรียบจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ดังนั้น การที่โจทก์มิได้นำเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระทั้ง 3 ครั้ง ดังกล่าวไปหักชำระหนี้เกิดจากความผิดพลาดในการบันทึกข้อมูลทางบัญชีหรือในการตรวจสอบข้อมูลทางบัญชีอันเป็นความผิดพลาดเล็กน้อยมากกว่าที่จะมีเจตนาเอาเปรียบจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสองแก้ฎีกาว่า การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์ โดยมิได้นำสืบพยานเอกสารเป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมาไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์และจำเลยทั้งสองโต้เถียงกันว่า หลังจากครบรอบบัญชีในวันที่ 29 ตุลาคม 2534 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์รวม 41 ครั้ง แต่จำเลยทั้งสองนำสืบว่า ได้โอนเงินชำระหนี้ให้โจทก์รวม 44 ครั้ง ตามต้นฉบับใบฝากเงินและใบรับฝากเงิน ซึ่งมีรายละเอียดบางรายการที่จำเลยทั้งสองไม่มีหลักฐาน แต่โจทก์ยอมรับ การที่โจทก์แนบตารางสรุปการผ่อนชำระหนี้มาท้ายอุทธรณ์เพื่อแจกแจงรายละเอียดการคิดคำนวณ เพื่อให้เห็นว่ามีการหักชำระอย่างไร อันเป็นการอธิบายให้เห็นรายละเอียดการคำนวณมิใช่เป็นการอ้างข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ที่มิได้ว่ากล่าวกันมาในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยและคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองที่ว่า หนี้ของโจทก์ในส่วนของดอกเบี้ยขาดอายุความบางส่วนหรือไม่นั้น ไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share